guideubon

 

ชูภาคพลเมืองแก้น้ำท่วมอุบลฯ ไม่เชื่อน้ำยา ขร่ก. "มงคล" ผุดไอเดียสะพานเชื่อมเมือง

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-02.jpg

หนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย ปีที่ 43 ฉบับที่ 502 ประจำวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2565 นำเสนอข่าวพาดหัว... ชูภาคพลเมืองแก้น้ำท่วมอุบลฯ ไม่เชื่อน้ำยา ขร่ก. "มงคล" ผุดไอเดียสะพานเชื่อมเมือง

เวทีถอดบทเรียนน้ำท่วมอุบลฯ คึก หน่วยงานรัฐหอบแฟ้มร่ายโมเดลชลศาสตร์ ขณะที่เสียงค้านโครงการขุดคลองผันน้ำมูลลงโขงคํ่า 4.5 หมื่นล้าน กระหึ่ม ชป.ประสานเสียง สทนช. ยันเขื่อนปากมูลไม่ใช่สาเหตุน้ำท่วมเมือง ด้าน "จิตรกร-กิติรัตน์" จับมือรุมจ้วงข้าราชการไร้บูรณาการ หนุนองค์กรภาคประชาชนขับเคลื่อน ด้าน "มงคล จุลทัศน์" ผุดไอเดียสร้างสะพานลอยฟ้าเชื่อมเมืองอุบลฯ-วาริน บรรจุสมุดปกขาวเตรียมยี่นรัฐบาล คราวเจ้าภาพประชุมหอการค้าทั่วประเทศปลายเดือนนี้ เผยวิกฤติเศรษฐกิจอุบลฯ สูญกว่า 7 พันล้าน

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-04.jpg

เช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็น “น้ำท่วมเมืองอุบลฯปี 2565” ณ หอประชุมบุษยรัตน์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 อุบลราชธานี ,สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี ,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดอุบลราชธานี มูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมเป็นเจ้าภาพ มีผศ.ดร.สุเชาว์ มีหนองหว้า เลขานุการศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี นายนิกร วีสเพ็ญ อดีตประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ประสานงาน

การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ เป็นการถอดบทเรียนหลังสถานการณ์น้ำท่วมเมืองอุบลฯ เริ่มคลี่คลาย โดยได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนาด้วย เช่น นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ,นางฉวี วงศ์ประสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายภพ ภูสมปอง โยธาธิการและผังเมือง จ.อุบลราชธานี รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ, นักวิชาการท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และประชาชน ที่ได้รับผลกระทบราว 300 คน

ภาคแรกนำร่อง โดยการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ นางฉวี วงศ์ประสิทธิพร ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สทนช. ได้อธิบายถึงโครงสร้างระบบบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำมูล น้ำชี และลำน้ำสาขาในเขตภาคอีสานตอนล่างเป็นโมเดลชลศาสตร์ โดยระบุว่า ปริมาณน้ำปีนี้ประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งมากผิดปกติที่แหล่งน้ำธรรมชาติจะรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ปริมาณน้ำที่กระจายไปตามแก้มลิงประมาณ 78% ของปริมาณน้ำทั้งหมด แต่พอปี 2565 พื้นที่แก้มลิงที่เคยมีได้หายไปส่วนหนึ่ง กอปรกับปริมาณน้ำปีนี้มามาก ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติธรรมชาติ จึงเกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นไปตามหลักการวิทยาศาสตร์

ต่อวิธีแก้ปัญหา นอกเหนือจากการสร้างสันเขื่อน กั้นไม่ให้น้ำข้างนอกเข้าชุมชน แล้วสูบน้ำข้างในออกก็คือ หาแหล่งพักน้ำแก้มลิง เพิ่มการขุดลอกคูคลองแหล่งน้ำธรรมชาติ

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-07.jpg

นอกจากนั้น ยังระบุว่า สทนช. มีแผนที่จะขุดคลองระบายน้ำเหนือแก่งสะพือลงแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายน้ำให้มากและเร็วขึ้น รวมถึงวิธีขุดลอกโคลนเศษสวะท้องน้ำมูล โดยเฉพาะหน้าเขื่อนปากมูลที่สะสมไว้มาก ถึงขั้นต้องระเบิดโขดหินใต้แม่น้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้มากขึ้น

ด้าน นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี อธิบายว่าอุบลราชธานี เป็นเมืองปลายน้ำ ต้องรับน้ำจากต้นแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา รับน้ำจากแม่น้ำชีตั้งแต่ จ.ขอนแก่น ยังไม่นับลำน้ำสาขาต่างๆ เช่น ลำเซบก ลำเซบาย แม่น้ำมูลที่เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย หรือสถานี M7 สามารถรับน้ำได้ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปีนี้น้ำมาประมาณ 6,000 ล้านลบ.ม./วินาที ถ้าน้ำมาระดับนี้ อย่างไรก็ไม่พ้นที่น้ำจะท่วม

นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ กล่าวพร้อมนำเสนอโครงการขุดคลองผันน้ำเป็นทางออก ซึ่งโครงการขุดคลองผันน้ำมูลลงแม่น้ำโขง ระยะทาง 97 กม. มูลค่าโครงการกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจไปก่อนหน้านี้แล้ว

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-08.jpg

สำหรับ นายภพ ภูสมปอง โยธาธิการและผังเมือง จ.อุบลราชธานี ได้นำเสนอโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และโครงการพัฒนาเมืองในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และโครงการก่อสร้างผนังกั้นน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ชุมชนวารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร ต.แจระแม ต.ปทุม อ.เมือง รวม 8 โครงการ งบประมาณ 1,140 ล้านบาท พร้อมเสนอว่า เพื่อป้องกันความเสียหายในกลุ่มประชาชนเขตเมือง อปท. ควรออกเทศบัญญัติควบคุมอาคารการก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-09.jpg

สำหรับในภาค2 เวทีได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและนักวิชาการ โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้งและแอดมินเพจ Ubon Connect นายนพภา พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข นายภาณุ มัชฌิมา หัวหน้ากลุ่มงานแผนงานและวิชาการ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 ดำเนินรายการ ซึ่งเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ในเวทีเสวนา ต่างแสดงความคิดเห็นหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการขุดคลองผันน้ำมูลของกรมชลประทาน โดยอ้างว่า เป็นโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากแต่ไม่คุ้มค่า หวั่นกระทบระบบนิเวศและสังคม ที่สำคัญขาดการทำประชาพิจารณ์การมีส่วนร่วมของประชาชน

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-05.jpg

ขณะที่นายทศพล ไกรพันธ์ ผู้ใหญ่บ้าน ต.ศรีไค อ.วารินชำราบ ลุกขึ้นแถลงว่า ก่อนหน้านี้ทางโครงการเคยเรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ไม่กี่คนไปรับฟังข้อมูล ภายหลังมีข่าวออกมาว่าผลสำรวจออกมาแล้ว และเป็นไปตามแผนที่กรมชลประทานกำหนด ตนก็ยังงง ยอมรับไม่เคยเห็นเอกสารผลการศึกษาดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการจะให้ค่าเวนคืนที่ดิน ตนมองว่าไม่คุ้มเงินที่ได้มา จะไปหาซื้อที่ดินทำกินทดแทนใหม่คงลำบาก และราคาประเมินก็คงจะเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด ไม่ต่างกับการมัดมือชก ในขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า โครงการนี้คงเกิดยากเพราะใช้งบประมาณสูงถึง 4.5 หมื่นล้าน ขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมือง พร้อมได้ติติงไปยัง ส.ส.อุบลฯ ที่นิ่งกับเรื่องนี้ผิดปกติ เชื่อว่าต่างหวั่นจะไปกระทบกับฐานคะแนนนิยมในพื้นที่

อีกส่วนหนึ่ง มองถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพัฒนาเมืองเบียดเบียนพื้นที่แก้มลิง และเสนอให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณทำฝายเก็บกักน้ำตามหมู่บ้าน ตำบล ขุดลอกคูคลองหนองบึง ให้มีพื้นที่รับน้ำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเป็นแก้มลิงแล้วยังจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งไปในตัวด้วย อีกทั้งทำระบบธนาคารน้ำใต้ดินให้ครอบคลุมชุมชนมากที่สุด สอดคล้องกับแนวคิดของนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ออกมากระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการหวงแหนรักษาทรัพยากรป่าไม้ ป่าบุ่ง ป่าทามตามหมู่บ้านซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

ส่วนประเด็นที่นางสมปอง เวียงจันทร์ ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน เรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้งหมด เพื่อระบายน้ำคืนธรรมชาติให้แม่น้ำมูล นางฉวี วงศ์ประสิทธิพร ได้แย้งว่า ไม่มีผล เพราะปัจจุบันระดับน้ำหน้าเขื่อนและท้ายเขื่อนมีระดับเท่ากัน ในขณะที่นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ยืนยันเสริมว่าปัจจุบันระดับน้ำหน้าเขื่อนมีระดับต่ำกว่าแก่งสะพือถึง 4 เมตร การเปิดปิดเขื่อนจึงไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งในเมืองแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังสนับสนุนแนวคิดที่จะ ให้มีการสร้างทางออกของน้ำปีกซ้าย-ขวาของเขื่อนเพิ่มอีกด้วย พร้อมทั้งก่อตั้งองค์กรเฉพาะกิจขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบลฯ โดยภาคประชาชนทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในขณะที่ ดร.กิติรัตน์ สีหบัณฑ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ให้ความเห็นว่าควรจะให้มหาวิทยาลัยในภาคอีสานและนักวิชาการท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพโดยของบประมาณการบริหารจัดการจากรัฐบาล

นายสมคิด ธนาพรพาณิชกุล นักธุรกิจระบุว่า ข้อมูลการจัดการบริหารน้ำของหน่วยงานรัฐต้องแม่นยำ ต้องใช้ข้อมูลเชิงสถิติ ต้องรู้ปริมาณน้ำตามไทม์ไลน์ เมื่อรู้ล่วงหน้าว่าปริมาณน้ำจะมาก ต้องเร่งเปิดเขื่อนระบายน้ำแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้น้ำเต็มแล้วค่อยเปิด ทั้งยังมีเขื่อนที่อยู่ตอนบน เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ ปล่อยสำทับเข้ามาอีกส่งผลให้ระบายไม่ทัน “อย่าลืมว่าท้ายเขื่อนปากมูลมีลักษณะเป็นคอขวดและมีแก่งตะนะเป็นเขื่อนธรรมชาติกั้นอีกชั้น” นายสมคิด กล่าว

ส่วนประเด็นการประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลของภาครัฐ ทุกฝ่ายมองว่าล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไม่น่าเชื่อถือ อาทิ การพยากรณ์อากาศประกาศว่า ปริมาณน้ำปีนี้จะไม่สูงเกินปี 62 เมื่อชาวบ้านเชื่อยกทรัพย์สินให้พ้นระดับน้ำปี 62 แต่กลับไม่รอด ปรากฏว่าระดับน้ำสูงกว่าปี 62 ถึง 1 เมตร ซึ่งตัวแทนจากจากชุมชนวังแดง วังสว่าง เขตเทศบาลนครอุบลฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า ปีนี้น้ำมาเร็วและมากจนตั้งตัวไม่ทัน ทรัพย์สินที่ยกไว้ที่สูงจมน้ำเสียหาย100% เพราะเชื่อว่าน้ำไม่สูงเท่าปี 62 ตามที่ทางการประกาศ ทุกวันนี้อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว อีกทั้งระบุว่าระบบหอเตือนภัยที่อยู่ในซอยพโลชัย 5 ทุกเช้าจะเปิดเพลงชาติ แต่ไม่เคยเห็นระบบเตือนภัยทำงานเลย และเป็นที่น่าสังเกตว่าปีนี้ท่วมมากและท่วมนาน กว่า 2 เดือนแล้วน้ำยังไม่ลดตามเกณฑ์ปกติ

ด้าน ดร.จิตรกร โพธิ์งาม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่าที่ผ่านมาหลายเวทีเคยจัดลักษณะนี้มาแล้ว แต่ไม่เคยมีทางออกเป็นรูปธรรม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะพบว่า ระบบราชการไม่เวิร์ค ฉะนั้น ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง อย่าโยนปัญหาให้ข้าราชการ เพราะข้าราชการทำงานตามหน้างานแต่ละภารกิจของตน ประเภทต่างคนต่างทำ โยธาผังเมืองก็พูดเรื่องป้องกันตลิ่ง ชลประทานก็พูดเรื่องคลองผันน้ำ หยิบยกเอาวิธีแก้แบบวิศวกรรมมาใช้ ไร้ระบบบูรณาการในขณะที่นักการเมืองเอง ก็ไม่มีบทบาทเท่าที่ควร “ทางรอดประชาชนต้องมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง บอร์ดคณะทำงานต้องใหญ่กว่าผู้ว่าฯ” ดร.จิตรกร โพธิ์งาม กล่าวย้ำตอนท้าย

ส่วน ดร.กิติรัตน์ สีหบัณฑ์ ผอ.สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ลุกขึ้นสะท้อนระบบราชการช่วยไม่ได้ ตราบใดที่ยังทำงานแบบก้มหน้าก้มตาขาดบูรณาการ ไม่มีความเข้าใจปัญหาความรู้ไม่พอ ทำงานเฉื่อย ไม่กระตือรือร้น จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ต้องการให้เกิดน้ำท่วมแบบนี้จะได้เบิกจ่ายงบฯสะดวก เสมือนน้ำแห้งงบฯ ฝืด น้ำท่วมงบฯ ทะลัก และตนก็ไม่เชื่อน้ำยาพ่อเมือง เพราะข้าราชการมาแล้วก็ไปตามวาระ ประชาชนต่างหากต้องร่วมกันแก้ปัญหาบ้านตัวเอง

นสพ-ปทุมมาลัย-แก้น้ำท่วม-06.jpg

ด้านนายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี เสนอแนวคิดในการสร้างสะพานยกระดับเชื่อมระหว่างตัวเมืองอุบลฯ กับเมืองวารินชำราบ โดยอ้างว่า เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ปัจจุบันมีเส้นทางหลักเชื่อมฝั่งเมืองอุบลฯ กับวารินชำราบอยู่ 4 เส้นทาง แต่จากสถานการณ์ครั้งนี้ ส่งผลให้ระบบการขนส่งถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง เหลือเส้นทางเดียวคือสายบายพาสเลี่ยงเมือง บ้านบัวเทิง ต.กุดลาด ส่งผลให้ระบบโลจิสติกส์กลายเป็นอัมพาต สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 พันล้าน ส่งผลกระทบไปถึงโอกาสทางการค้าที่ จ.อุบลฯ จะได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายมงคล กล่าวต่อว่า เมื่อระบบภูมิศาสตร์แก้ได้ยาก และเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก ตนจึงขอเสนอการสร้างสะพานยกระดับเชื่อม ระหว่างเมืองอุบลฯ กับเมืองวาริน อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ระบบขนส่งถูกตัดขาด ทั้งนี้ ตนได้หารือกับหน่วยง่านที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นแล้ว เพื่อหาความเป็นไปได้ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นไปได้ จะช่วยเซฟความเสียหายในระบบเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนได้มาก ซึ่งแนวทางนี้จะถูกบรรจุลงในสมุดปกขาวเพื่อยื่นต่อรัฐบาลในคราวการประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่ จ.อุบลฯ จะเป็นเจ้าภาพในปลายเดือนนี้ นายมงคล กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีนายดินดอน ตั้งใจมาจน ตัวแทนจากชุมชนราชธานีอโศก ต.บุ่งใหม อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นชุมชนริมลำน้ำมูลประชากรราว 500 คน ได้เสนอแนวทางให้คนอยู่กับน้ำให้ได้ ซึ่งชุมชนราชธานีอโศกเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเดิมทีก่อสร้างอาคารให้พ้นน้ำเสาสูง3-4 เมตรโดยเอาเกณฑ์น้ำท่วมปี 45 แต่ปีนี้เอาไม่อยู่ต้องอพยพมาอยู่อาคารใหญ่ ครั้งนี้ตัวแทนคนดังกล่าวได้ประกาศพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงหากเกิดภัยน้ำท่วมอีก โดยจะจัดพื้นที่ราว 11 ไร่เพื่อปลูกสร้างบ้านยกสูง 6 เมตรโดยจะเอาระดับน้ำปีนี้เป็นเกณฑ์ให้ได้อาศัยในภาวะวิกฤติ

อนึ่ง การจัดงานครั้งนี้คณะทำงานได้ถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NBT ,สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย(สวท.)อุบลราชธานี FM 98.50 MHz เผยแพร่สดออนไลน์ไปยังพื้นที่ประสบภัย 13 อำเภอ ผ่านระบบZoom online ,เพจสำนักประชาสัมพันธ์เขต 2, เพจอุบลคอนเนก และเครือข่าย ทั้งนี้เจ้าภาพจะนำผลสรุปส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อไป

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2565 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนับว่าหนักที่สุดในรอบ 44 ปี ได้รับผลกระทบ 21 อำเภอ 61,245 ครัวเรือน 108,253 คน จำแนกเป็นด้านการดำรงชีพ 13 อำเภอ 78,640 คน ถนน 157 สาย สะพาน 11 แห่ง วัดที่พักสงฆ์ 82 แห่ง รพ.สต.7 แห่ง โรงเรียน 60 แห่ง อพยพ 35,231 คน จุดอพยพ 117 จุด พื้นที่การเกษตร 20 อำเภอ เสียหาย 368,825.75 ไร่ พื้นที่ประมง 15 อำเภอ เสียหาย 1,610.95 ไร่ 9,232 ตรใฃม. ปศุสัตว์ 14 อำเภอ 712,355 ตัว อพยพสัตว์ 56,952 ตัว 

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511