guideubon

 

จากยอดดอยสู่ปลายคมขวาน บัณฑิตม้ง 6 ภาษา หนึ่งเดียว ม.อุบลฯ

บัณฑิตม้ง-มหาวิทยาลัยอุบล-01.jpg

บัณฑิตหนึ่งเดียวของชนเผ่าม้ง จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ่อกับแม่เดินทางไกลลงจากปลายดอย สู่ดินแดนที่ราบสูง พร้อมสวมใส่ชุดชนเผ่าม้งถ่ายภาพร่วมยินดีกับลูกชาย ท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปราย เป็นบรรยากาศแห่งความสุขใจที่หาชมได้ยาก

บัณฑิตม้ง-มหาวิทยาลัยอุบล-02.jpg

ภาพแห่งความประทับใจของครอบครัว กุลนิธิรัตน์ นับเป็นสีสันแห่งความสุขอย่างแท้จริงของครอบครัวเล็กๆชนเผ่าม้ง ที่เดินทางไกลจาก อ.อุ้มผาง จ.ตาก แม้ระยะทางจะไกลกว่า 700 กม. แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในความสำเร็จครั้งนี้ บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ ปัจจุบันอายุ 23 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ บ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จัวหวัดตาก เป็นชนเผ่าม้ง ที่มาเรียนที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสามารถหลาหลาย สื่อสารได้มากกว่า 6 ภาษา อาทิ ไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ภาษาพื้นเมืองเผ่าม้ง ภาษาอีสาน เป็นต้น

บัณฑิตม้ง-มหาวิทยาลัยอุบล-03.jpg

บัณฑิต แสน กุลนิธิรัตน์ บัณฑิตเผ่าม้ง กล่าวว่า ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวเล็กๆ อาศัยอยู่บนดอย ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าว ข้าวโพด เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ พืชผักสวนครัว ยึดหลักตามแนวทางพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการสำเร็จก้าวแรกของการศึกษา ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตนได้ทำงานในฝัน คือเป็นมัคคุเทศก์ที่บริษัทรีครีเอชั่นแลน บางกอก ไบค์กิ้ง เขตยานาวา กรุงเทพฯ เป็นทัวร์จักรยานที่นำเที่ยวชมวิถีชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ

เหตุผลที่เลือกเรียนการท่องเที่ยว บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ บอกว่า ในสมัยเด็กตนเคยฝันเป็นมัคคุเทศก์ เพราะที่บ้านมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งการท่องเที่ยวคือหัวใจหลักของประเทศไทยในอนาคต หลังจากจบมัธยมปลาย ตนจึงตัดสินใจเลือกเรียนการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แม้จะไกลจากบ้านแต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี ต้องทำให้ได้เพื่อครอบครัวและอนาคต ซึ่งตนคิดเสมอว่า“ความสำเร็จ หรืออะไรก็ตาม จะยากหรือง่าย ถ้าเราต้องการมันจริง ๆ หรืออยากได้มันจริง ๆ สักวันมันต้องเป็นของเราแน่นอน” การมีจินตนาการของตนเอง หรือการสร้างจินตนาการให้ตัวเองเสมอๆ จะช่วยส่งผลทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วและได้ดีกว่าคนอื่น “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”และ“ลงมือทำดีกว่าคิดที่จะทำ”

บัณฑิตม้ง-มหาวิทยาลัยอุบล-04.jpg

ประสบการณ์ชีวิตช่วงเป็นนักศึกษา ม.อุบลฯ บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ บอกว่า ได้เรียนและทำกิจกรรมนักศึกษาไปควบคู่ไปด้วย ทั้งในระดับคณะและระดับมหาวิทยาลัย อาทิ ชมรมวิชาการ ชมรมสานฝันสัมพันธ์สัญจรเป็นต้น นอกจากนี้ในปี 2556 ตนได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเกาหลีใต้ ระยะเวลา 3 เดือน ที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีส เกาหลีใต้ ในโครงการการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น Global Leadership Development Program (GLDP) ซึ่งก็เป็นหนึ่งประสบการณ์ดีๆที่ได้เรียนรู้ และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต

บัณฑิตม้ง-มหาวิทยาลัยอุบล-05.jpg

บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ ยังบอกว่า การแต่งชุดม้งนั้นเป็นการแสดงถึงตัวตนที่แท้จริง ว่าตนเป็นชนเผ่าม้ง รู้สึกภูมิใจในตัวเอง ได้เปิดเผยออกไปว่าเรานั้นชนเผ่าม้ง มาจากดอยไกล มาศึกษาเล่าเรียนอย่างตั้งใจ แสดงว่าไม่ได้ด้อยกว่าใคร และไม่อายที่จะบอกว่าเป็นชาวม้ง ที่มีความสามารถไม่แพ้ใคร แม้จะมาไกล แต่มุ่งมั่น ขยัน อดทน ทนอด “ไม่มีคำว่าแพ้สำหรับคนที่จะสำเร็จ” บัณฑิตแสน กล่าว ก่อนที่จะนั่งลงต่อหน้าพ่อกับแม่ชาวม้ง และมอบใบปริญญาบัตรให้ท่าน พร้อมก้มลงกราบแทบเท้าของทั้ง 2 แทนคำขอบคุณพระในบ้านที่ทำให้ลูกมีวันนี้ อีกหนึ่งความภาคภูมิใจในบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “กันเกรา ช่อที่ 25” บัณฑิตรุ่นแรกใน รัชสมัยรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว