guideubon

 

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร

กรมสมเด็จพระเทพฯ-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-05.jpg

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 18 นาฬิกา 32 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ทรงเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร

กรมสมเด็จพระเทพฯ-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-03.jpg

ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. นำร่องจัดทำเป็นโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ นับเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่เขื่อน

กรมสมเด็จพระเทพฯ-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-04.jpg

จุดเด่น คือ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิม โดย กฟผ. ได้นำระบบ Energy Management System หรือระบบบริหารจัดการพลังงาน เป็นระบบอัตโนมัติ ที่นำเข้ามาใช้ในการควบคุมให้การผลิต การส่ง พลังงาน ให้การใช้พลังงานนั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้นานขึ้น

โดยโรงไฟฟ้าได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงาน ของประเทศแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กรมสมเด็จพระเทพฯ-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-07.jpg

ต่อจากนั้น ทรงเปิดอาคารสิรินธารประภากร เป็นอาคารจัดแสดงสื่อประชาสัมพันธ์ด้านพลังงาน และประวัติความเป็นมาการก่อตั้งเขื่อนสิรินธร ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นชื่อเขื่อนนามว่า "เขื่อนสิรินธร"

กรมสมเด็จพระเทพฯ-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์-08.jpg

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ รองรับประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยออกแบบอาคาร เป็นรูปทรงโค้งตามแนวแสงอาทิตย์ ด้วยแนวคิดการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก สะท้อนถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยอาคารเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินชมธรรมชาติ มีลานกว้างทรงกลมรูปดอกบัว สัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้ง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชนรอบเขื่อน พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน