guideubon

 

พระบัญชาแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ

สมเด็จพระมหาธีราจารย์-วัดพระเชตุพน-01.jpg

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 เวลา 16.00 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปยังพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงมอบพระบัญชาแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ่านพระบัญชา

สมเด็จพระมหาธีราจารย์-วัดพระเชตุพน-02.jpg

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม องค์ที่ 16 เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นพระนักพัฒนา นักปฏิบัติที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสืบทอดพระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พระคุณเจ้าเป็นพระสงฆ์ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา และอุทิศตนรับใช้พระพุทธศาสนาตลอด 62 พรรษา ปัจจุบันมีอายุครบ 7 รอบ 84 ปี โดยคณะสงฆ์ คณะอุบาสกอุบาสิกา และศิษยานุศิษย์ ได้กำหนดจัดงานบำเพ็ญกุศลขึ้น ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2564

บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.2491 ณ วัดยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และย้ายเข้ามาอยู่ ณ วัดมณีวนาราม ศึกษาพระปริยัติ อบรมพระกรรมฐาน และสนองการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นสำนักการบริหารคณะสงฆ์ที่สำคัญของจังหวัด โดยมี พระเดชพระคุณพระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผโล ป.ธ.5) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็นสาธารณูปการจังหวัด เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และตำแหน่งสุดท้ายเป็น รองเจ้าคณะภาค 10 (มรณภาพเมื่ออายุ 92 ปี)

สมเด็จพระมหาธีราจารย์-วัดพระเชตุพน-03.jpg

ปี พ.ศ.2497 พระคุณเจ้าได้ย้ายจากวัดมณีวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เข้ามากรุงเทพมหานคร เลือกหาสำนักที่อยู่อาศัยเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นการสั่งสมประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา โดยในระยะแรก ได้รับเมตตานุเคราะห์จากเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร ป.ธ.8) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และพระเดชพระคุณพระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ ป.ธ.8) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสุธรรมมุนี ให้พำนักในฐานะอาคันตุกะ ที่กุฏิหลังหอพระปริยัติธรรม คณะ 1

ช่วงก่อนเข้าพรรษา ปี พ.ศ.2497 พระคุณเจ้ามีโอกาสเข้าไปกราบเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระมหาพุฒ สุวฑฒโน ป.ธ.7 วัดสุทัศนเทพวราราม และได้รับความเมตตาให้พำนักอยู่ในห้องกุฏิด้านใน (ท่านเองจำวัดด้านนอก) หลังออกพรรษาท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระพุทธิญาณมุนี ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ซึ่งในปีนั้นเอง พระคุณเจ้าได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัว

ปี พ.ศ.2499 หลังออกพรรษา เจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณกมหาเถร ป.ธ.9) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี เจ้าคณะตรวจการภาค 3 ทราบข่าวว่าพระคุณเจ้ายังไม่มีสังกัด และพำนักอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม จึงขอให้ย้ายมาสังกัด ณ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร โดยมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานวัด และสำนักงานเจ้าคณะตรวจ

สมเด็จพระมหาธีราจารย์-วัดพระเชตุพน-04.jpg

ปี พ.ศ.2501 ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณณกมหาเถร ป.ธ.9) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี พระราชปัญญามุนี (อิน ติสฺสสโร ป.ธ.6) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระวินัยกิจโกศล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพุทธิวงศมุนี ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระมหาบุญมา ทีปธมฺโม ป.ธ.6 เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยมีคุณหญิงเนื่อง บุรีนวราษฐ์ และหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์-หม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ เป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์ในการอุปสมบท

หลังจากอุปสมบท และสนองงานพระศาสนา ภายใต้ร่มบารมีธรรมของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ณ พระอารามหลวงวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร พระคุณเจ้าได้รับความไว้วางใจจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ อาทิ เป็นเลขานุการเจ้าอาวาส ประจำสำนักงานเจ้าคณะตรวจการคณะสงฆ์ภาค 3 เป็นเลขานุการหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 6 เลขานุการรองแม่กองงานพระธรรมทูต เลขานุการแม่กองงานพระธรรมทูต เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เลขานุการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และเลขานุการประธาน อปต. เป็นต้น สนองงานในเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทั้งในพระอาราม และนอกพระอาราม ทั้งในประเทศ และในต่างประเทศ

ในพรรษกาลปี พ.ศ.2518 เจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ปุณฺณกมหาเถร) ในฐานะแม่กองงานพระธรรมทูต และรองประธานโครงการสร้างวัดไทยนครลอสแอนเจลิส ได้รับนิมนต์ให้ไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ สร้างกุฎิสงฆ์หลังแรกของวัดไทยนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นองค์ประธานโครงการสร้างฯ พระเดชพระคุณพระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย) เป็นเลขานุการฯ ฝ่ายบรรพชิต และพระคุณเจ้าเป็นรองเลขานุการฯ ซึ่งได้เดินทางติดตามเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปในฐานะเลขานุการแม่กองงานพระธรรมทูต โดยเป็นงานประวัติศาสตร์สำคัญ ที่ทำให้เกิดการวางรากฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไทยในนครนิวยอร์ก และขยายไปทั่วทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา ในนามของคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่สืบมาถึงปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระมหาธีราจารย์-วัดพระเชตุพน-05.jpg

จากความสำเร็จในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไทย ในนครนิวยอร์ก ได้มีชาวพุทธจากเมืองและรัฐต่างๆ อาทิ จากนครชิคาโก นครลอสแอนเจลิส นครฮิวสตัน นครดาลัด นครไมอามี่ และอีกหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ขอปรึกษาและขอความสนับสนุนในกิจการพระศาสนา ซึ่งเป็นประเด็นปัญญา พระคุณเจ้าจึงกราบเรียนขอแนวปฏิบัติมายังเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แม่กองงานพระธรรมทูต ผู้บังคับบัญชาในประเทศไทย ซึ่งได้รับการอนุญาตให้พระคุณเจ้าอยู่เพื่อปฏิบัติศาสนกิจ ให้คำปรึกษา และส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ของพุทธศาสนิกชนในสหรัฐอเมริกาต่อไป

ช่วงต้นปี พ.ศ.2519 พระคุณเจ้าและพระสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา รวม 9 รูป ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรการประชุมสงฆ์ไทยขึ้น เพื่อปรึกษาหารือในการปฏิบัติศาสนกิจในสหรัฐอเมริกา ให้ชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย เพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวโลก ให้สอดคล้องเป็นแบบฉบับอันเดียวกัน โดยได้รับอนุมัติจากทางการสหรัฐเมริกาให้ใช้ชื่อว่า “สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา”

กลางปี พ.ศ.2519 ศูนย์พุทธศาสนาไทยแห่งรัฐอิลลินอยส์ และพุทธศาสนิกชนในนครชิคาโก มีมติจัดตั้งวัดพระพุทธศาสนาขึ้นในนครชิคาโก และได้นิมนต์พระคุณเจ้าเป็นประธานโครงการฯ (เจ้าอาวาส)

สมเด็จพระมหาธีราจารย์-วัดพระเชตุพน-06.jpg

ปี พ.ศ.2520 คณะกรรมการมีมติในการเลือกหาอาคารสถานที่ก่อตั้งวัด ณ นครชิคาโก ซึ่งมหาเถรสมาคมได้อนุมัติให้เจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร และเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสนมหาเถร) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณณ์ วัดสระเกศ เดินทางไปเป็นประธานประกอบการพัทธสีมาพิธี ณ นครชิคาโก อันเป็นการวางรากฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบไทยให้หยั่งรากลึกลงไว้ ณ มหานครชิคาโก และจัดเป็นสังฆกรรมการพัทธสีมา พิธีประวัติศาสตร์แห่งแรกในทวีปยุโรปและอเมริกา โดยมีพระสงฆ์ไทยทั่วสหรัฐฯ มาร่วมประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สมัยสามัญประจำปีครั้งแรกที่ 1/2520 ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวไทยและนานาชาติ มาร่วมในการพัทธสีมาพิธีเป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ.2545 ได้รับเลือกจากพุทธบริษัทในสหรัฐอเมริกา ให้เป็นประธานโครงการการสร้างวัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในดินแดนที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชสมภพ เป็นอีกงานประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่เกิดขึ้น

ปี พ.ศ.2553 เลือกหาพื้นที่เหมาะสม และได้รับอนุญาตจากทางการเมืองเรย์แฮม ให้สร้างวัดเต็มพื้นที่ 25 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 233 ไร่) โดยด้านหน้าสร้างเป็นอุโบสถ 4 ชั้น มีอาคารชุด 3 ชั้น ต่อเนื่องจากอุโบสถ และล้อมรอบอุโบสถเป็นรูปตัวยู ด้านหลังอุโบสถเป็นลานโล่งไร้หลังคา สร้างด้วยวัสดุที่ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ด้วยอุปกรณ์อันทันสมัย จัดเป็นวัดฝ่ายเถรวาทแบบไทยที่มีความสมบูรณ์แบบ และใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (2564) ทั้งนี้ วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านพุทธศิลป์การออกแบบยอดเยี่ยมจากสถาบันสถาปนิกรัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2557