guideubon

 

ใครต้องการนำรูปแบบ เหรา วัดกลาง ไปใช้ ต้องขออนุญาตวัดก่อน

 เหรา-วัดชัยภูมิการาม-วัดกลาง-01.jpg

วันที่ 9 ธันวาคม 2563 เพจ วัดชัยภูมิการาม - วัดกลาง โพสข้อความประกาศจาก พระมหาพรชัย ฉนฺทธมฺโม เจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการาม เกี่ยวกับ เหรา ( เห-รา ) ที่บันใดประตูอุโบสถ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ เหรา วัดกลาง ว่า

ด้วยปรากฎว่า สื่อ สังคม ประชาชน ได้ให้ความสนใจ เกี่ยวกับรูปปั้น...เหรา..(เห รา) ที่บันใดประตูอุโบสถ วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) ซึ่งเป็นศิลปะของช่างพื้นถิ่นเมืองเขมราษร์ธานี อันมีความเรียบง่าย ปราศจากลวดลายประดับใด ๆ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ เหรา วัดกลาง นั้น

ทั้งมีความประสงค์นำ เหรา วัดกลาง ไปจัดทำที่ระลึกในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งมีการสืบค้น และเผยแผ่ข้อมูลเกี่ยวกับเหรา ทำให้เกิดการรับรู้และสนใจเป็นวงกว้าง

เหรา-วัดชัยภูมิการาม-วัดกลาง-02.jpg

เพื่อเป็นการส่งเสริมการสืบค้น ศึกษาข้อมูล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้สนใจทั้งหลาย ทางวัดจึงขอวางแนวทางการนำไปทำเผยเเผ่ ดังนี้

1.ทางวัดถือว่า เหรา วัดกลาง เป็นสมบัติของวัดและชุมชน จึงมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของ เหรา วัดกลาง นี้
2.ผู้ใด องค์กร สมาคม หรืออื่น ๆ ที่ต้องการนำรูปแบบ เหรา วัดกลาง ไปจัดทำ สร้าง ขอให้ทำหนังสือเพื่อขออนุญาตจัดทำจากทางวัด
3.วัดจะพิจารณาอนุญาตให้ตามความเหมาะ เพื่อร่วมกันเผยแผ่ เหรา วัดกลาง โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
4.วัดไม่ยินยอม อนุญาตให้ผู้ใด หรือองค์กรใด ๆ นำ เหรา วัดกลาง ทั้งหมด ไปจดสิทธิบัตรลิขสิทธิ์โดยประการทั้งปวง โดยทางวัดถือว่า เหรา วัดกลาง เป็นสมบัติส่วนรวมของวัดและชุมชนที่บรรพชนมอบไว้ให้

จึงแจ้งประกาศมาเพื่อทราบ และถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไป
พระมหาพรชัย ฉนฺทธมฺโม
เจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการาม
093-6925942 

เหรา-วัดชัยภูมิการาม-วัดกลาง-03.jpg

สำหรับ เหรา หน้าอุโบสถ(สิม) วัดชัยภูมิการาม นั้น เพจประวัติศาสตร์อีสานล้านช้าง กล่าวไว้ว่า เดิมชื่อวัดกลาง เป็นวัดเก่าแก่ ของ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ซึ่งวัดชัยภูมิการาม มีอุโบสถแบบมหาอุต เป็นที่ประดิษฐานของพระสิทธิมงคล พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศิลปะล้านช้าง และมีภาพเขียนสีจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน(ฮูปแต้ม) เหรา ที่อยู่ตรงบันไดทางขึ้นสวยงามแปลกตา มี 5 หงอนไม่มีเกล็ด เท้าด้านหลังเหยียบปลา

เหรา-วัดชัยภูมิการาม-วัดกลาง-04.jpg

วัดกลางเป็นวัดเก่าแก่ และเป็นวัดแรกของเมืองเขมราฐ สร้างมานานกว่า 200 ปี ประมาณพ.ศ.2357 เมื่อคราวตั้งเมืองใหม่ สร้างโดย พระเทพวงศา(เจ้าก่ำ) ผู้ครองเมืองคนแรก มีการสร้างพระอุโบสถ(สิม) โดยพระครูเขมรัฐฐานานุรักษ์ (ญาท่านลี) เมื่อ พ.ศ.2440 โดยสร้างเป็นอุโบสถแบบมหาอุต ที่มีรูปแบบเรียบง่ายแต่ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมดั้งเดิม โดยฝีมือสกุลช่างชาวญวนและศิลปะพื้นถิ่นอีสาน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานก่ออิฐถือปูน จะพบอาคารพานิชย์ ก่ออิฐถือปูน ในพื้นที่เขมราฐ ซึ่งเป็นยุคเดียวกัน อยู่ 3 หลัง

รูปปั้นบันไดขึ้นสิม หรือโบสถ์ ในล้านนา ล้านช้าง และลุ่มน้ำโขง จะมีการนิยมปั้นรูป เหรา(เห-รา)เป็นสัตว์ในตำนานป่าหิมพานต์

เหราวัดกลางนั้น ช่างฝีมือในสมัยก่อนสร้างขึ้นแบบเรียบง่าย ตัดทอนในสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้เหลือเพียงความงามที่บริสุทธิ์ ไม่มีเกร็ดหรือเปลวกนกอย่างช่างหลวง แต่เป็นช่างพื้นเมืองที่สร้างด้วยความจริงใจและศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่งที่หาได้ยากในปัจจุบัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะแบบ Naïve (นาอีฟ)

เหรา-วัดชัยภูมิการาม-วัดกลาง-05.jpg

เมืองเขมราฐฎร์ธานี หรือ เขมราฐ มีความหมายเดียวกันคือ
- เขม เป็นคำมาจากภาษาบาลี หมายถึง ความเกษมสุข โดยคำที่เทียบเคียงคือคำว่า "เกษม" ที่มาจากภาษาสันสกฤต
- ราษฎร เป็นคำที่มาจากภาษาลีสันสกฤตมีความหมายตรงกับ “รัฐ” หรือ “รัฏฐ” ซึ่งมาจากภาษาบาลี หมายถึง แว่นแคว้น หรือดินแดนนั้นเอง
ดังนั้น คำว่า "เขมราษฎร์ธานี" หรือ "เขมราฐ" จึงมีความหมายรวมว่า ดินแดนแห่งความเกษมสุข

เมื่อปี พ.ศ. 2357 เจ้าอุปราช (ก่ำ) แห่งเมืองอุบลราชธานี ขอแยกออกมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่บ้านโคกก่งดงพะเนียง ต่อมาเจ้าพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าทิดพรหม) เจ้าผู้ครองเมืองอุบลราชธานี พระองค์ที่ 2 (ต้นสกุลพรหมวงศานนท์) จึงมีใบบอกลงไปกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาทราบพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโคกกงดงพะเนียง ขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า เขมราษฎร์ธานี ดำรงสถานะเทียบเท่าหัวเมืองชั้นเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ตามที่พระพรหมวรราชสุริยวงศ์กราบบังคมทูล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าอุปราช (ก่ำ) ซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าพระวรราชภักดี พระนัดดาพระเจ้าสุวรรณปางคำ อันสืบมาจากราชวงศ์สุวรรณปางคำ เป็นพระเทพวงศา (เจ้าก่ำ) เจ้าผู้ครองเมืองเขมราษฎร์ธานีพระองค์แรก (พ.ศ. 2357-2369) ปกครองเมืองเขมราษฎร์ธานีโดยร่มเย็นสืบมา

ปี พ.ศ. 2428 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวขัตติยะ (พ่วย) บุตรพระเทพวงศา (บุญสิงห์) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี คนที่ 4 เป็นที่พระเทพวงศา (พ่วย) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ธานี ลำดับที่ 5 (พ.ศ. 2428-2435)

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ อีสานถูกแบ่งเป็น 8 บริเวณ เมืองเขมราฐมีเดชธนีรักษ์เป็นผู้ว่าราชการเมือง และมีอำเภออยู่ในการปกครอง 6 อำเภอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 เมืองเขมราฐถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร จนปี พ.ศ. 2455 จึงถูกย้ายมาขึ้นกับกับจังหวัดอุบลราชธานีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

เหรา-วัดชัยภูมิการาม-วัดกลาง-06.jpg

หากใครได้ไปถ่ายรูปกะ..(เหรา..เห_รา) บันไดหน้าพระอุโบสถแล้ว อย่าลื่ม เข้ากราบพระขอพรจากหลวงพ่อสิทธิมงคล องค์ศักดิ์สิทธิ์ พุทธศิลป์แบบล้านช้าง พระประจำอุโบสถ ด้วยนะครับ

ขอบคุณภาพจาก สันติพงษ์ เจียวิทยนันท์