guideubon

 

นพ.สสจ.อุบลฯ แจ้งทุกพื้นที่ใช้มาตรการเข้ม ป้องกันโรคไข้เลือดออก

สสจ-อุบล-ไข้เลือดออก-01.jpg

วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 นายสุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในระดับประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าปี 2562 นี้จะระบาดอย่างต่อเนื่องและตลอดทั้งปี

สสจ-อุบล-ไข้เลือดออก-03.jpg

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งจิตอาสา เพื่อรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ขณะนี้พบว่าทุกสถานที่ ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัด และโรงพยาบาล ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้มีความเสี่ยงที่โรคไข้เลือดออกอาจจะแพร่กระจาย และขยายเป็นวงกว้าง

สสจ-อุบล-ไข้เลือดออก-04.jpg

เพื่อเป็นการตอบโต้โดยใช้มาตรการเข้มรายงานข้อมูลและเฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงได้ประชุม teleconference ร่วมกับศูนย์ระบาดวิทยาในทุกอำเภอ เพื่อดำเนินงานอย่างเร่งด่วน ตอบโต้ภาวะการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ทั้งด้านป้องกันและควบคุมโรค ( สำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายให้มีค่าเป็น 0 อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในทุกวันศุกร์ ) รวมทั้งการรักษาพยาบาล ( ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเข้มงวดการตรวจรักษาโรคไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ) โดย

1. สั่งการและกำชับทุกพื้นที่รายงานผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกให้ศูนย์ระบาดวิทยาอำเภอภายใน 3 ชั่วโมงและศูนย์ระบาดวิทยารายงานผู้ป่วยให้ สสจ.ทราบทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการก่อนเวลา 15.00 น. เมื่อพบผู้ป่วยหรือสงสัยไข้เลือดออกในโรงพยาบาล ให้ส่งผู้ป่วยพบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเวชปฏิบัติของโรงพยาบาล ( Mr.ไข้เลือดออก ) เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีความรู้ในการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงอาการที่ต้องรีบพาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ทันที ในกรณีที่มีอาการรุนแรงสามารถมาพบแพทย์ก่อนวันนัดครั้งต่อไป

สสจ-อุบล-ไข้เลือดออก-02.jpg

2. ให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ออกฉีดพ่นสเปรย์กระป๋องที่บ้านผู้ป่วยและรอบๆบ้านภายใน 12 ชั่วโมงพร้อมสอบสวนโรค และให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่งรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายทุก 7 วันอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้หลัก 5 ป 1 ข ร่วมกับมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ เก็บกวาดบ้านให้สะอาด เก็บขยะเศษภาชนะรอบๆ บ้าน ปิดภาชนะเก็บน้ำกินน้ำใช้ให้สนิท ไม่ให้เป็นแหล่งที่ยุงลายจะวางไข่ ทำทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล, ประชาสัมพันธ์ให้นอนในมุ้งในช่วงเวลากลางวันหรือทายากันยุงป้องกันยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรค

3. กรณีที่มีผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกทุกรายที่นอนโรงพยาบาล ให้แจกยาทากันยุง( หรือสมุนไพร ) และกางมุ้งให้ผู้ป่วย( แม้จะมีมุ้งลวดในตึกแล้วก็ตาม ) ๔. ให้ทุกอำเภอเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ( EOC ) หรือ WAR ROOM ประเมินสถานการณ์ทุกวัน

นายสุวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของมาตรการขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่และประชาชนทั่วไป ได้ขอให้มีการสำรวจและเพาะพันธุ์ยุงลายในทุกพื้นที่ ( หมู่บ้าน วัด โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานที่ราชการ สถานประกอบการ โรงงาน โรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์) รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องไข้เลือดออกผ่านหอกระจายข่าว วิทยุชุมชนอย่างต่อเนื่อง ด้านการควบคุมโรคให้ประสาน อปท.ในพื้นที่เพื่อจัดทีมควบคุมโรคร่วมกัน พร้อมจัดหาสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์เคมีภัณฑ์ในการป้องกันควบคุมโรค

สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไป หากมีคนในครอบครัวป่วย มีไข้สูง 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น ปวดเมื่อย ตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง ตามแขนขา หรือข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ( ไม่ควรเกินวันที่ 2 ที่มีอาการป่วย ) ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยาลดไข้ที่สามารถรับประทานได้คือยาพาราเซทามอล เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ และหากพบผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออกให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต./เทศบาล/ผู้นำชุมชนเพื่อลดจำนวนยุงลายพาหะนำโรค เพื่อลงพ่นเคมีภัณฑ์ในพื้นที่รวมทั้งการใช้สเปรย์ฉีดพ่นกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยต่อไป

พรสิริ มณฑา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ข่าว/ส่งข่าว
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511