guideubon

 

รมว.วิทย์ฯ ชม 3 นวัตกรรมพันธุ์ไทยแท้ ผลงาน ม.อุบลฯ

นวัตกรรมพันธุ์ไทย-อุบล-01.jpg 

วันที่ 27 กันยายน 2560 ดร.อรรชกา สิบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้ติดตาม และคณะผู้สื่อข่าวสายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบุคลากรโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมให้ต้อนรับและอำนวยความสะดวก สถานที่ในการถ่ายทำรายการเดินหน้าประเทศไทย

โดรนเพื่อการเกษตร-02.jpg

นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ถ่ายทำ Smart farmer ผู้พัฒนาระบบควบคุมอัจฉริยะสำหรับโรงเรือนทางการเกษตร ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นับเงินฟาร์ม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมชมและถ่ายทำ การสาธิตการทำงานของโดรนอัจฉริยะเพี่อการเกษตร บริเวณแปลงนาสาธิต คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และชมการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรมของผู้ประกอบการรายใหม่ รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ณ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หุ่นยนต์แขนกล-01.jpg

จากนั้นเดินทางไปยัง บริษัท RST Robotics ผู้พัฒนาและผลิตหุ่นยนต์แขนกลของคนไทยสำหรับอุตสาหกรรม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร เวลา 16.00 น.

ชวลิต-ถิ่นวงศ์พิทักษ์-01.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ดำเนินการจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นฐานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

อรรชกา-สิบุญเรือง-01.jpg

โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค 4 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรมโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

โดรนเพื่อการเกษตร-01.jpg

โครงการที่ 1 อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร (โดรน) ที่มีคุณสมบัติโดยการออกแบบทางวิศวกรรมของโครงสร้างลำตัวเครื่อง ซึ่งสามารถพ่นของเหลวไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย หรือสารเคมีทางการเกษตร ทำจากวัสดุที่ป้องกันการกัดกร่อน แบกน้ำหนักได้ถึง 15 กิโลกรัมมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าคนถึง 40 เท่า สามารถทำงานได้ถึง 15 – 20 ไร่ต่อชั่วโมง และยังสามารถป้องกันการเสียหายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากละอองน้ำหรือละอองฝนได้

โครงการที่ 2 Product Name ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน (Smart Think) เป็นการควรคุมโรงเรือนอัจฉริยะควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ที่มีความสามารถในการควบคุมและการตัดสินใจในการสั่งงานแบบอัตโนมัติแทนมนุษย์ หรือให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งงานทางไกลจากภายนอกฟอร์มผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตามรูปแบบการทำงานของ ไอโอที (IOT internet of think) โดยในระบบควบคุมโรงเรือนและสวนอัจฉริยะสมาร์ทฟาร์ม จะมีเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่คอยทำงานตรวจสอบ ค่าต่างๆ แล้วส่งข้อมูลเพื่อนำกลับมาคำนวณ และสั่งการทำงานตามระบบที่ตั้งไว้ให้ทำงานได้ตามความต้องการรวมไปถึงระบบวางแผนการปลูก วางแผนการตลาดผ่านระบบแอปพลิเคชั่นในระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การตลาดของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรและพ่อค้าคนกลางสามารถทราบข้อมูลเข้าถึงกันและกันได้อย่างรวดเร็ว การจัดการด้านระบบควบคุมทางการเกษตรของผัก และผลไม้ เครื่อง Smart think สามารถวัดค่า pH เพื่อควบคุมช่วงของค่า pH ที่ทำให้พืชเติบโตได้ดีและสม่ำเสมอ วัดค่า Ec เพื่อควบคุมปริมาณปุ๋ยทำให้พืชสามารถดูดซึมน้ำและอาหารได้ดี วัดค่าอุณหภูมิเพื่อให้ผักอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเติบโต และวัดค่าความชื้นเพื่อควบคุมการเกิดโรคของผัก ลดปริมาณต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำได้ที่สิ้นเปลืองได้ ลดปริมาณต้นทุนในการใช้ปุ๋ย เนื่องจากควบคุมปริมาณการผสมปุ๋ยกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม ทำให้ค่า EC ทำให้ผักดูดซึมน้ำและอาหารได้ดี และวัดค่า pH ให้อยู่ในช่วงที่พืชเจริญเติบโตได้ดีและสม่ำเสมอ และสามารถลดปริมาณต้นทุนค่าใช้จ่ายของในการจ้างคน เนื่องจากสามารถควบคุมการทำงานต่างๆ ผ่านระบบอัตโนมัติและยังสามารถสั่งการผ่านระบบ Smart Phone และคอมพิวเตอร์ได้

และโครงการที่ 3 หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม สัญชาติไทย มุ่งพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผลิตโดยการใช้องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล อิเลคทรอนิคส์ และวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับให้หุ่นยนต์มีความสามารถเทียบเท่ากับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาไม่แพง มีฟังชั่นการใช้งานเป็นภาษาไทยใช้งานง่าย ซึ่งหุ่นยนต์ที่ผลิตแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์แขนกลประเภท Welding สามารถเชื่อม Pallet สามารถยกวาง และหุ่นยนต์แขนกลประเภท Painting ใช้สำหรับพ่นสีได้

นวัตกรรมทั้ง 3 โครงการนี้ เป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ด้านการพัฒนาและตอบสนองการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่และภูมิภาคได้ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลอย่างแท้จริง ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว


ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว