guideubon

 

ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ อธิการบดี ม.อุบลฯ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ได้มีการอ่านคำศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขดำที่ 998/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 2170/2557 ระหว่าง นางรัชนี นิคมเขตต์ โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์

นงนิตย์-ธีระวัฒนสุข-01.jpgสรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 “โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทราบมติของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อ.ก.พ.อ.) ที่ให้เพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ โดยให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิมแต่ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2556 แต่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามมติดังกล่าวเป็นเวลานานเกินสมควร จนถึงวันที่ 30 และ 31 ตุลาคม 2556 จึงเพิ่งออกคำสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิมตามมติของคณะอนุกรรมการดังกล่าวหลังจากนั้นเป็นเวลา 9 เดือนเศษ อันเป็นเวลานานเกินสมควรโดยจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยทำให้โจทก์ได้กลับเข้ารับราชการล่าช้าออกไปโดยไม่สมควร

การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลชั้นต้น(ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี และปรับ 18,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาโดยสรุปว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ฟังได้ความแล้วปรากฏว่า ที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้น สืบเนื่องมาจากสำนักงานกฎหมายและนิติการมีความเห็นเสนอจำเลยว่า มติของคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุผลสำคัญว่าคณะอนุกรรมการดังกล่าว ไม่ใช่คณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ตามกฎหมายได้ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเคยวินิจฉัยในกรณีที่คล้ายคลึงกันว่าอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่อาจมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการหรือบุคคลอื่นใดทำหน้าที่แทนได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสถานภาพทั้งสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี และจำเลยเลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นดังกล่าว แม้ความเห็นดังกล่าวจะไม่สอดคล้องกับความในมาตรา 64 และมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 และความในข้อ 4 แห่งข้อบังคับ ก.พ.อ. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการหรือกรณีถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก พ.ศ. 2549 ก็ตาม

แต่เมื่อความเห็นที่ต่างกันในข้อกฎหมาย ทั้งสองต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่าอาจถูกต้องด้วยกัน และศาลปกครองสูงสุดยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าข้อกฎหมายควรเป็นไปตามความเห็นใด การที่จำเลยซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน เลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกากับแนวทางปฏิบัติเดิมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งสภามหาวิทยาลัยฯ เคยมีมติเห็นชอบด้วย อีกทั้งโจทก์ก็มีอายุเพียง 47 ปี ยังมีเวลารับราชการต่อไปอีกกว่า 10 ปี แนวทางที่จำเลยเลือกย่อมไม่มีผลที่จะสามารถขัดขวางมิให้โจทก์กลับเข้ารับราชการตามเดิมได้ หรือทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าในการรับราชการสืบไปได้

ข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ย่อมไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยทำให้โจทก์กลับเข้ารับราชการล่าช้าออกไปโดยไม่สมควร นอกจากนี้การดำเนินการก็มีความคืบหน้าและสืบเนื่องติดต่อกันตลอดมาโดยในระยะเวลา 9 เดือนเศษนั้น จำเลยนำเรื่องของโจทก์เสนอให้สภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด อีกทั้งเมื่อขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีหนังสือมายังจำเลยว่า ก.พ.อ. มีมติยืนยันตามมติคณะอนุกรรมการฯ (อ.ก.พ.อ.) ที่ให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิม จำเลยก็รีบดำเนินการนำเรื่องของโจทก์เสนอให้สภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบและออกคำสั่งให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิมในวันที่ 30 และ 31 ตุลาคม 2556 ทันที

แม้การดำเนินการต่อมาของโจทก์ จะมีขั้นตอนเสนอให้สภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบด้วยซึ่งทำให้เวลาที่ใช้ดำเนินการล่าช้าออกไปอีก ไม่ว่ากรณีของโจทก์จะเข้ากรณีที่ต้องนำเสนอให้สภามหาวิทยาลัยฯ รับทราบหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในกรณีของบุคคลอื่นที่คล้ายคลึงกับกรณีของโจทก์เช่นของนางสาวธาดา จำเลยก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันมาก่อน ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยทำให้โจทก์ได้กลับเข้ารับราชการล่าช้าออกไปโดยเพิ่มขั้นตอนดำเนินการให้มากขึ้นโดยไม่สมควร

การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511