guideubon

 

ม.ราชภัฏอุบล ฯ คว้ารางวัลในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-01.jpg

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคม 2567 มี นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยจัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัย ทั้งในภาคบรรยาย (Oral presentation) และภาคโปสเตอร์ (Poster Presentation) ใน 6 กลุ่มเรื่อง ประกอบด้วย งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข  การวิจัยด้านสังคม คุณภาพชีวิตและความมั่นคง  การวิจัยด้านการศึกษา   การวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์  การวิจัยด้านการเกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร  การวิจัยด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและเริ่มต้น

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-02.jpg

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา มูลสิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา นำทีมสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและโชว์ผลงานวิจัย ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) โดยส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวดพร้อมจัดบูธนิทรรศการ 2 ผลงาน คือ

1. ผลงานวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี” (ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา)

2. ผลงานวิจัย “การพัฒนากระเป๋าประคบร้อนสมุนไพรระบบไฟฟ้าลดอาการปวดหลังส่วนล่าง” (ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี นนทพจน์)

ซึ่งผลงานวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี” คว้ารางวัล “Bronze Award มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติในครั้งนี้

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-03.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า การวิจัยเรื่อง การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิเคราะห์กระบวนการเกิดเครือข่ายการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร แบ่งออกเป็น 3 โครงการวิจัยย่อย ประกอบด้วย

โครงการวิจัยย่อย1 : วิเคราะห์หมวดหมู่ ออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูลคัมภีร์ใบลาน    วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร

โครงการวิจัยย่อย2 : ปริวรรตคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

โครงการวิจัยย่อย3 : จดหมายเหตุคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มรดกศรัทธาของคณะสงฆ์และทายก ทายิกา ในอดีต

โดยมีคณะนักวิจัยที่ร่วมดำเนินโครงการ ฯ พระปกรณ์  ชินวโร (ปุกหุต)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา  ทาปทา  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญชู  ภูศรี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญสุปณัฏฐ์ พันธ์เกษม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิติราช  พงษ์เฉลียว  อาจารย์วรนุช ศรีพลัง  อาจารย์นันทยุทธ์ ละม้ายจีน  นายณัฐพงค์ มั่นคง  นายภิญโญ พรหมสวัสดิ์  และนายหริรักษ์  โสภา

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-04.jpg

วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร เป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานีด้วย มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับทางคณะสงฆ์ส่วนกลาง จึงปรากฏมีการใช้หรือสร้างคัมภีร์ใบลานเส้นพิมพ์เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า มีคัมภีร์เส้นพิมพ์ 66 มัด สมุดไทยเส้นพิมพ์ 5 ฉบับ คัมภีร์ใบลานเส้นพิมพ์ที่มีอายุเก่าที่สุดของวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร คือ คัมภีร์ลานเทียม (กระดาษ) เรื่องทศชาติชาดก ของโรงพิมพ์ศึกษาธรรมดา พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2470

คัมภีร์ที่ปรากฏส่วนมากเป็นคัมภีร์จากสำนักพิมพ์ หรือโรงพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2470 – ปัจจุบัน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นคัมภีร์จัดพิมพ์โดยพระบรมวงศานุวงศ์ หน่วยงานภาครัฐ และคัมภีร์อันเนื่องในพระมหาเถระแห่งคณะธรรมยุติกนิกาย อันสอดคล้องกับความเป็นวัดธรรมยุต โดยคัดเลือกคัมภีร์เส้นพิมพ์ของวัดสุปัฏนาราม ในกลุ่มหลังนี้ มาจัดแสดง เน้นที่คำบันทึกผู้สร้างพระคัมภีร์ ซึ่งมีสำนวนโวหารที่ไพเราะ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นวรรณกรรมที่มีการสืบทอดจากล้านช้างเข้าสู่ภาคอีสานและเผยแพร่ในวัด สุปัฏนาราม วรวิหาร มีการใช้ศัพท์ สำนวนในภาคอีสานเป็นพื้น ส่วนวรรณกรรมสำนวนภาคกลาง คือ วรรณกรรมที่มีการนำเข้าจากต่างถิ่น ประกอบไปด้วย 1) ปุพเพกตปุญญตากถา 2) สังยุตตนิกาย ฉคาถาวรรค และ 3) พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ วรรณกรรมทั้ง 3 เรื่องเป็นสำนวนไทย ซึ่งเรื่องปุพเพกตปุญญตากถา และสังยุตนิกาย ฉคาถาวรรค บันทึกด้วยตัวอักษรธรรมอีสาน แต่ใช้สำนวนไทย ส่วนพุทธานุสติ ให้อักษรขอมบันทึก และบันทึกด้วยสำนวนไทย 

วัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มีคัมภีร์ใบลาน 142 มัด มีจำนวนผูก 2,911 ผูก ซึ่งสามารถจำแนกได้ 5 อักษร ดังนี้

1) อักษรขอมจำนวน 524 มัด
2) อักษรธรรมอีสานจำนวน 250 มัด
3) อักษรไทยน้อยจำนวน 2 มัด
4) อักษรไทยจำนวน 2,134 ผูก
5) อักษรโรมันจำนวน 1 ผูก

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-05.jpg

คัมภีร์ใบลานวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มีลักษณะพิเศษ คือ มีคัมภีร์ใบลานล้านช้าง สร้างโดยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. 2181-2238) โดยมีการออกพระนามว่า “สมเด็จบรมบพิตรพระมหาธรรมิกราชาธิราชเจ้า” (บาลีทสชาดก ผูก 2, จารเมื่อ พ.ศ. 2221) จากนั้นพบใบลานที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 24-25 ตามลำดับ โดยเฉพาะใบลานที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 25 จะพบว่าเป็นคัมภีร์ใบลานอักษรขอมจำนวน 29 มัด ซึ่งคัมภีร์ใบลานอักษรขอม ลักษณะของเส้นจารมีลักษณะสวยงาม ส่วนคัมภีร์ใบลานอักษรธรรมเริ่มมีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบการเขียนแบบเดิมของอีสานและรูปแบบการเขียนแบบสยาม กล่าวคือ เริ่มมีวรรณยุกต์ใช้ในเอกสารใบลาน นอกจากนี้จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ยังมีวรรณกรรมท้องถิ่นที่ยังไม่มีการปริวรรต  เช่น ไก่น้อย (ดาวลูกไก่) พระเชตพน (สำนวนร้อยกรอง) พระนาคเสน (สำนวนร้อยกรอง) เป็นต้น จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ใบลานวัดสุปัฏนาราม วรวิหาร มีความโดดเด่นทางด้านประวัติความเป็นมาของใบลาน อักษรจารึก อักษรที่ใช้จาร และมีเนื้อหาใบลานที่ยังไม่มีการปริวรรต ชำระ จึงควรมีการจัดทำวิจัย พร้อมกับเผยแพร่คัมภีร์ใบลานเพื่อการสืบค้นผ่านระบบออนไลน์ 

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-06.jpg

หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวต่อว่า สำหรับผลงานวิจัย “การจัดทำระบบสารสนเทศข้อมูลคัมภีร์ใบลาน วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอ เมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี” ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดพร้อมจัดแสดงนิทรรศการ ในงาน“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)” ครั้งที่ 19 ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก สามารถคว้ารางวัล Bronze Award ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวง พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และชาวจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนตัวแล้วนับเป็นเกียรติประวัติที่ดีงาม ที่ได้มีโอกาสในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่เมืองอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีพันธกิจที่ดำเนินเพื่อสังคมส่วนรวม หนึ่งในนั้นคือ “ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” เพื่อสืบสานรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เป็นมรดกล้ำค่าให้คงอยู่คู่เมืองนักปราชญ์ “อุบลราชธานี” ต่อไป

พงพิทักษ์ อุปไชย
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

คัมภีร์ใบลาน-วัดสุปัฏน์-07.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511