guideubon

 

พิธีวางพวงมาลา งานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลฯ ปี 2565

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-01.jpg

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา “งานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี 11 พฤศจิกายน ประจำปี 2565” พร้อมด้วยนางพัทธานันท์ ยังตรง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วมงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการจัดงานปีที่ 17 ติดต่อกัน

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-02.jpg

การจัดงานนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณ และรําลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีส่วนให้การช่วยเหลือทหารนานาชาติ ที่ถูกจับให้เป็นเฉลยศึกสงครามที่อุบลราชธานี เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ.1945 โดยกำหนดให้วันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเวลาของการจัดงาน

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-03.jpg

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีเชิญธงชาติฝ่ายสัมพันธมิตร 19 ชาติ ขึ้นสู่ยอดเสา พิธีวางพวงมาลา การจุดคบไฟรำลึกถึงวีรชน ผู้แทนชาวต่างชาติกล่าวขอบคุณชาวอุบลราชธานี ผู้มีพระคุณต่อเชลยศึก แสดงความขอบคุณต่อตัวแทนชาวอุบลราชธานี พร้อมมอบของที่ระลึก (ดอกไม้) ให้แก่ Lady of Ubonและการร่วมร้องเพลงสามัคคีชุมนุม หรือเพลง Auld Lang Syne ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรม

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-04.jpg

สำหรับอนุสรณ์สถานรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณทุ่งศรีเมืองแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง สถาปนิกผู้ออกแบบและลงมือก่อสร้าง คือ บรรดาเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นควบคุมตัวมาจากค่ายเชลยศึกที่อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  เพื่อสร้างสนามบินให้กับ    กองทัพญี่ปุ่นที่จังหวัดอุบลราชธานี

การสร้างสนามบิน เป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่เหล่าเชลยศึกต้องทำงานอย่างหนัก ท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อนระอุ ในสภาพที่เนื้อตัวแทบเปลือยเปล่า สวมใส่เฉพาะกางเกงขาสั้น  กางเกงใน  หรือ “ผ้าเตี่ยว” เพื่อปกปิดร่างกาย ตอนกลางคืนต้องนอนในค่ายที่พักที่มีสภาพแออัด  ยัดเยียดในสภาพไหล่ชนไหล่  อาหารการกินฝืดเคือง  มีเพียงพอประทังชีวิตไปวันวัน

ความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสของเหล่าเชลยศึก  เป็นที่รับรู้ของชาวอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอุบลฯ ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่ได้พบเห็นเชลยศึกถูกควบคุมตัวไปอาบน้ำหลังเลิกงานเป็นประจำทุกวัน

จากสภาพร่างกายที่ผอมโซ และท่าทีที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานหนัก เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ชาวอุบลฯ จำนวนหนึ่งได้แอบนำข้าวปลาอาหาร ผลไม้ และของกินต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้  ให้แก่เชลยศึกด้วยวิธีการต่าง ๆ เท่าที่จังหวะเวลา และโอกาสจะอำนวย ท่ามกลางการห้ามปรามและขัดขวางจาก        ทหารญี่ปุ่น บางคนถูกข่มขู่และถูกทำร้ายก็มี แต่ชาวอุบลฯ ก็ไม่ลดละที่จะแอบช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส

หลังสงครามสงบ  เชลยศึกจำนวนหนึ่งได้เรี่ยไรเงินกันสร้างสิ่งที่ระลึก ซึ่งชาวบ้านเรียก “เสาหิน” บ้าง “แท่งหิน” บ้าง เพราะไม่รู้ว่าผู้สร้างเรียกว่าอะไร  และสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-05.jpg

ประมาณปี พุทธศักราช 2514 ทหารอากาศออสเตรเลียที่มาร่วมรบในสงครามเวียดนาม  และมีฐานปฏิบัติการที่สนามบินอุบลราชธานี จำนวนประมาณหนึ่งกองร้อย ในชุดเครื่องแบบเต็มยศ ได้เดินแถวมายังหน้าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ทำความเคารพพร้อมกัน และวางพวงมาลา หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีพิธีกรรมใดๆ อีกเลย

จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2549 (ค.ศ.2006) ชาวอังกฤษและคณะจำนวนหนึ่ง ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางไปยังทุ่งศรีเมือง พร้อมทั้งได้เปิดเผยผลการสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่สองที่อุบลราชธานี พวกเขาเรียกชื่ออนุสรณ์สถานแห่งนี้ว่า “The Monument of Merit” ซึ่งแปลว่า “อนุสาวรีย์แห่งความดี”

และได้เสนอว่า ควรจะมีพิธีการรำลึกอนุสาวรีย์แห่งความดี  เป็นประจำทุกปี โดยเทียบเคียงกับวันสำคัญของโลก คือ “Remembrance Day” ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11 จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้กำหนดให้วันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันจัดงานรำลึกความดีของบรรพชนอุบลราชธานี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช  2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-06.jpg

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-08.jpg

วันรำลึกแห่งความดี-ชาวอุบล-07.jpg