guideubon

 

เทศน์สามัคคี 2561 กัณฑ์ที่ห้า วัดแสนสำราญ "วิธีระงับความอาฆาต"

เทศน์สามัคคี-2561-วัดแสนสำราญ-01.jpg

วันที่ 15 สิงหาคม 2561 พระครูธีรปัญญาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ (ธ) เป็นองค์แสดงธรรมเรื่อง "วิธีระงับความอาฆาต" เป็นวัดลำดับที่ 5 จากจำนวนทั้งหมด 23 วัด ของประเพณีเทศน์สามัคคี ปีที่ 63 ประจำปี 2561 ที่วัดแสนสำราญ อ.วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อความอาฆาตเกิดขึ้นในบุคคลใด พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีระงับความอาฆาตไว้ 5 ประการ คือ

1.พึงเจริญ เมตตาในบุคคลนั้น เมตตาหมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ตั้งจิต ปรารถนาให้ผู้ที่มีความอาฆาตต่อเรามีความสุข โดยมโนกรรม คือตั้งใจคิดปรารถนาให้เขามีความสุข โดยวจีกรรม คือพูดคุยกับเขาด้วยเหตุและผล โดยกายกรรม คือช่วยสนับสนุนให้เขามีความสุขในสิ่งที่ถูกต้อง และอยู่ในวิสัยที่ตนสามารถช่วยได้ เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะทำให้ความอาฆาตลดน้อยผ่อนคลายจนหมดไปได้

2.พึงเจริญ กรุณาในบุคคลนั้น กรุณาหมายถึงความปรารถนาให้ ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราตั้งจิต ปรารถนาให้ผู้ที่มีความอาฆาตต่อเรา จงพ้นจากความทุกข์ที่เป็นบ่อเกิดของความอาฆาตในจิตใจของเขาผู้นั้นก็จะคลาย ความอาฆาตต่อเราลงไปได้

3.พึงเจริญ อุเบกขาในบุคคลนั้น อุเบกขา หมายถึงการวางเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คือทำตนให้มีขันติธรรมต่อผู้มีความอาฆาต ดังนั้นเมื่อให้เมตตา และกรุณาพอสมควรแล้ว ก็พึงทำใจวางเฉยเป็นกลาง ผู้มีความอาฆาตเมื่อเห็นว่าเราไม่ได้รับผลกระทบจาก ความอาฆาตของเขา บ่อยเข้าเขาก็จะลดทอนความอาฆาตในจิตใจที่มีต่อเราลงไป และสงบไปในที่สุด

4 ไม่นึกไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ไม่ต้องไปคิดนึกถึง หรือสนใจในความอาฆาตที่ผู้นั้นมีต่อตนเอง เมื่อผู้มีความอาฆาตรู้ว่าเราไม่ใส่ใจเขาแล้ว เขาก็จะเลิกความอาฆาตไป

5.ให้นึกถึง ความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนฯให้เราใช้ปัญญาพิจารณาว่าผู้มีความอาฆาตต่อเรา ย่อมเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน คือ เมื่อเขาผูกอาฆาตเรา เขาก็ต้องได้รับความทุกข์ทรมานจิตใจจากความอาฆาตนั้น ที่เขาสร้างขึ้น มันเป็นการกระทำของเขาเอง

มีกรรมเป็นกำเนิด ด้วยความอาฆาตที่เกิดขึ้นในจิตใจของเขา สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองเขาทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาจักเป็นทายาทของกรรมนั้น เขาจะต้องรับผลจากการกระทำที่เกิดจากความอาฆาตในจิตใจของเขา

นอกจากนี้ พระสารีบุตรให้ระงับความอาฆาตในบุคคล 5 ประเภทดังนี้ คือ

1.ผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่ประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ คือไม่ใส่ใจความประพฤติทางกายแต่ให้ใส่ใจทางวาจาบริสุทธิ์ของเขา

2.มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์แต่ทางกายบริสุทธิ์ คือไม่ใส่ใจทางวาจาของเขาแต่ให้ใส่ใจความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ของเขา

3.มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ วาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ ได้ความสงบทางใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร คือไม่ใส่ใจความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา และไม่ใส่ใจความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา แต่ให้ใส่ใจการได้ทางสงบใจได้ความเลื่ิอมใสโดยกาลอันสมควรส่วนใดของเขา

4.มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ วาจาไม่บริสุทธิ์ และ ไม่ได้ความสงบทางใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร คือให้ตั้งความการุณ ความเอ็นดูว่าเขาได้ละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้วเมื่อเขาตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก

5. มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ และ วาจาบริสุทธิ์ และ ได้ความสงบทางใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แต่ไมถูกใจเรา เรายิ่งต้องไม่ควรอาฆาตเขา

ภาพ/ข่าวโดย Chanakan Philarak 

เทศน์สามัคคีลำดับต่อไป เป็นครั้งที่ 6 พบกันวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 วัดทองนพคุณ