guideubon

 

มอบรางวัลเชิดชู "คนดี มูนมังเมืองอุบล" งานสัปดาห์หนังสืออุบล ปี 2560

มูนมังเมืองอุบล-2560-01.jpg

วันที่ 14 สิงหาคม 2560 นายนิกร สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ "คนดี มูนมังเมืองอุบลฯ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 มีผู้เหมาะสมได้รับรางวัลจำนวน 6 ท่าน ได้แก่ 

1.นายเฉลิมพล มาลาคำ สาชาศิลปะการแสดง
2.นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี สาขาศิลปกรรม
3.พระเทพวราจารย์ สาขาวรรณกรรม
4.นายพงษ์สันต์ เตชะเสน สาขาสื่อ
5.นางวิลาวัณย์ ศรศิลป์ สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
6.นายบุญเหล็ง สายแวว สาขาเกษตรกรรม

มูนมังเมืองอุบล-นิกร-สุกใส-01.jpg

สำหรับรางวัล "คนดี มูนมังเมืองอุบล" เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้จังหวัดอุบลราชธานี นี้ มีระบบการคัดเลือกแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เกณฑ์ในการคัดเลือก เกิดจากผลงานที่มีคุณค่าต่อตัวท่าน และเกิดประโยชน์ต่อสังคม จากการนำเสนอรายชื่อในกลุ่มคณะกรรมการคัดสรร โดยไม่ต้องใช้เอกสาร หรือมีเกณฑ์การคัดสรรที่ซับซ้อน เพราะให้เป็นเวทีที่สามารถค้นหาคนดีที่ไม่แสดงตัวตนในสังคมมากนัก เวทีนี้อาจไม่สามารถนำเสนอได้กว้างขวาง ครบถ้วน แต่ก็เป็นความตั้งใจของคณะกรรมการที่เปิดเป็นเวทีเล็กๆ ร่วมกันค้นหาและยกย่องเชิดชูคนดีอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

วัตถุประสงค์ของโครงการ ยังคงเป็นเรื่องของการเชิดชู ให้กำลังใจ กับคนดีของเมืองอุบลในด้านต่างๆ อีกทั้งเป็นเวทีที่ต้องการให้บุคคลทั่วไป ได้รับทราบ มองเห็น สืบทอดแรงบันดาลใจ เกิดการเรียนรู้ และนำไปใช้ในการทำความดีเพื่อสังคม หรือเพื่องานของตน บุคคลที่ได้รับรางวัลทุกท่าน ในแต่ละสาขา เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ผลงานของท่านหรือการวางตัวของท่าน ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับเยาวชน

มูนมังเมืองอุบล-พระเทพวราจารย์-01.jpg

พระเทพวราจารย์ คนดี มูนมังเมืองอุบล สาขาวรรณกรรม

พระเทพวราจารย์ นามเดิมคือ พระมหาศรีพร วรวิญญู ภูมิลำเนาเดิมของท่าน อยู่ที่บ้านศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จบการศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค จากวัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปี 2532 จบปริญญาโทเกียรตินิยม สาขาวิชาบาลีและสันสกฤต ปี 2536 และปริญญาเอกสาขาภาษาบาลี เมื่อปี 2539

มูนมังเมืองอุบล-พระเทพวราจารย์-02.jpg

ปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม รองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี พระเทพวราจารย์ มีงานเขียนธรรมะจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 70 เล่ม แต่ละเล่มล้วนแล้วแต่มาจากพลังศรัทธาของสาธุชน และพลังความมุ่งมั่นแรงกล้าของท่าน ที่จะเผยแผ่งานพระพุทธศาสนา ดังกลอนบทหนึ่งจากหนังสือ ทำอย่างไรให้เป็นสุข ของท่าน เขียนไว้ว่า...บำรุงกาย อาหารดี มีประโยชน์ ไม่มีโทษ ต่อชีวิต จิตแจ่มใส เป็นส่วนเสริม ปรับปรุง บำรุงใจ เติมธรรมะเข้าไป ได้สุขเอย

มูนมังเมืองอุบล-เผ่า-สุวรรณศักดิ์ศรี-01.jpg

นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี คนดี มูนมังเมืองอุบล สาขาศิลปกรรม

อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อุดมศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อการศาสนา และเพื่อเป็นอาคารใช้สอยในองค์กร สถาบันต่างๆ เหล่านี้คือ ผลงานของอาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี สถาปนิก และอาจารย์ ที่มีผลงานการออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง โดยใช้เอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ให้เข้ากับโครงสร้างสมัยใหม่ ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทั้งยังมีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพอย่างซื่อสัตย์สุจริต

มูนมังเมืองอุบล-เผ่า-สุวรรณศักดิ์ศรี-02.jpg

อาจารย์เผ่า จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรมไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2553 ในวันที่อาจารย์เกษียณอายุราชการ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายแสดงมุทิตาจิตให้อาจารย์ ด้วยคุณความดีของอาจารย์ คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ได้รับรางวัล สาขาศิลปกรรม มูนมังเมืองอุบลราชธานี

มูนมังเมืองอุบล-บุญเหล็ง-สายแวว-01.jpg

นายบุญเหล็ง สายแวว คนดี มูนมังเมืองอุบล สาขาเกษตรกรรม

พ่อบุญเหล็ง สายแวว เกษตรกรที่ทำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนได้รับใบประกาศเกียรติคุณมากมายติดรอบบ้าน ใครมาเห็นก็ต้องตะลึง พ่อบุญเหล็งเริ่มทำการเกษตร จากการปรับปรุงพื้นที่ใกล้บ้านพัก ที่ตําบลหัวเรือ จำนวน 16 ไร่ ตั้งแต่ปี 2516 และตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ ปี 2535 มีกลุ่มบุคคลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกเดือน กลุ่มละ 50-150 คน พื้นที่ 16 ไร่ จะแยกเป็นด้านปศุสัตว์ เลี้ยงวัวกระบือ เลี้ยงไก่ สุกร ด้านประมง เลี้ยงปลาดุก ปลาใน เลี้ยงกบ ด้านเกษตร ทำนาปลูกข้าว พืชสมุนไพร ไม้ผล และพืชผักสวนครัว โดยมีแนวคิดว่า ปลูกทุกอย่างที่กิน แต่อย่ากินทุกอย่างที่ปลูก

มูนมังเมืองอุบล-บุญเหล็ง-สายแวว-02.jpg

รางวัลเชิดชูเกียรติที่พ่อบุญเหล็งได้รับ มีมากมาย เช่น ปี 2549 ได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรดีเด่น จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2552 จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศให้เป็นผู้มีคุณสมบัติและเหมาะสม เป็นปราชญ์เกษตรแผ่นดินระดับจังหวัด สาขาเกษตรผู้ทรงภูมิปัญญา และมีคุณูปการต่อภาคเกษตรไทย ปี 2553 ได้รับคัดเลือกให้เป็นคนต้นแบบ คนดีศรีแผ่นดิน จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2555 ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และวันนี้ ปี 2560 ด้วยคุณความดีของพ่อบุญเหล็ง คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้พ่อบุญเหล็ง สายแวว ได้รับรางวัลสาขาเกษตรกรรม มูนมังเมืองอุบลราชธานี

มูนมังเมืองอุบล-พงษ์สันต์-เตชะเสน-01.jpg

นายพงษ์สันต์ เตชะเสน คนดี มูนมังเมืองอุบล สาขาสื่อ

นายพงษ์สันต์ เตชะเสน จบการศึกษาชั้น ปวช. สายพาณิชยการ เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2524 โดยเป็นคอลัมนิสต์ เขียนลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อ ยุติธรรม ใช้นามปากกา "กำปั้นยุติธรรม" แนววิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวในสังคมจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น ต่อมาปี 2525 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี รวม 12 ปี ได้รับรางวัลผู้สื่อข่าวยอดเยี่ยม ผู้สื่อข่าวเด่น ต่อเนื่องทุกปี และได้ลาออกไปเป็น หัวหน้าศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์วัฏจักรการเมือง ประจำภาคอีสาน และยายสังกัดอยู่กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จนปัจจุบัน เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รวมอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมานาน 36 ปี

มูนมังเมืองอุบล-พงษ์สันต์-เตชะเสน-02.jpg

ช่วงระหว่างที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน นำเสนอเรื่องราวของสารเสพติด ผ่านคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ทั้งเรื่องเหล้าแห้ง ยาแก้ปวด ซิทานอล การสูดดมกาวซึ่งส่งผลเสียต่อระบบจิตประสาท จนเรื่องถูกนำไปอภิปรายในสภา ต่อมามีการออกกฎหมายมาควบคุมการใช้สารเสพติดต่างๆ เหล่านี้ ได้ติดตามทำข่าว การทุจริตเบิกจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงและอื่นๆ มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท ของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องถูกจับดำเนินคดีได้เกือบทั้งหมด และติดตามทำข่าวผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน  รวมทั้งเมื่อปี 2547 เป็นผู้นำเสนอข่าวกรณียายไฮ ขันจันทา นักขุดเขื่อน ที่เรียกร้องต้องการที่ดินที่ถูกนำไปสร้างเขื่อนห้วยละห้า ในอำเภอนาตาล ผ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสด ทำให้รัฐบาลในยุคนั้น ตัดสินใจระบายน้ำออกจากเขื่อน และคืนที่ดินให้กับยายไฮ และเพื่อนบ้านกว่า 50 ไร่ 

มูนมังเมืองอุบล-พงษ์สันต์-เตชะเสน-03.jpg

ปัจจุบัน ในการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ยังเน้นนำเสนอเรื่องราวบนผลกระทบด้านต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของประชาชนในจังหวัด จนได้รับรางวัลจากสังคมหลายรางวัล โดยรางวัลก่อนหน้านี้ คือรางวัลช่อสะอาด ระดับภูมิภาค ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ร่วมนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ จนนำไปสู่การจับกุมผู้ทำผิดหลายกรณี การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ยังคงทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานี และด้วยคุณความดีที่ได้ทำมา คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นายพงษ์สันต์ เตชะเสน ได้รับรางวัลสาขาสื่อมวลชน มูนมังเมืองอุบลราชธานี

มูนมังเมืองอุบล-เฉลิมพล-มาลาคำ-01.jpg

นายเฉลิมพล มาลาคำ คนดีมูนมังเมืองอุบล สาชาศิลปะการแสดง

นายเฉลิมพล มาลาคำ ตำนานแห่งศิลปินพื้นบ้านอีสานขนานแท้ จากจังหวัดสุรินทร์ ครอบครัวมีฐานะยากจน เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องออกทำงานหารับจ้างทั่วไป เพื่อให้มีเงินประทังชีวิต และจุนเจือครอบครัว ฉายแววความเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก ในปี 2528 เข้าสู่วงการเพลงครั้งแรก ด้วยการเขียนเองแต่งเอง ในชุดหนุ่มเขมรร้องไห้ ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ไม่ท้อแท้ อดทนต่อสู้บนเวทีโลกมายาเมื่อถึงปี 2531 จึงมาประสบความสำเร็จ จากชุดตามใจแม่เถิดน้อง อดีตรักวันเข้าพรรษา หลังจากนั้น ก็เข้าสู่วงการภาพยนตร์ เป็นดารานักแสดงร่วม 20 เรื่อง

มูนมังเมืองอุบล-เฉลิมพล-มาลาคำ-02.jpg

เฉลิมพล มาลาคำ เป็นคนที่มากด้วยน้ำใจ เสียสละให้กับชุมชนมาโดยตลอด ชาวบ้านจึงเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าเจริญ ตำบลท่าลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากการที่เป็นคนพูดจริงทำจริง และเสียสละเพื่อส่วนรวม ได้นำเงินเดือนที่ได้รับในแต่ละเดือน มอบเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงทั้งหมด ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ในปี 2558 คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทาคติให้ เฉลิมพล มาลาคำ ได้รับรางวัลสาขาศิลปะการแสดง มูนมังเมืองอุบลราชธานี

มูนมังเมืองอุบล-วิลาวัณย์-ศรศิลป์-01.jpg

นางวิลาวัณย์ ศรศิลป์ คนดี มูนมังเมืองอุบล สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม

นางวิลาวัณย์ ศรศิลป์ เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จบปริญญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต ภาษาอังกฤษ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ปริญญาโทการศึกษาผู้ใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร หน้าที่การงาน เริ่มต้นด้วยการรับราชการ เป็นครูตรี โรงเรียนประถม ศ.อ.ศ.อ. เมื่อปี 2513 และได้พัฒนาตนเอง จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยฐานะเชี่ยวชาญ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดอุบลราชธานี 

มูนมังเมืองอุบล-วิลาวัณย์-ศรศิลป์-03.jpg

ในขณะที่รับราชการ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน องค์กร เพื่อนร่วมงาน และประชาชน ตามบทบาทหน้าที่ด้วยน้ำใจไมตรีอันงดงาม จนได้รับเกียรติบัตรรางวัลมากมาย ที่สำคัญคือ ได้รับโล่เกียรติคุณ ยกย่องให้เป็นบุคลากรกรมการศึกษานอกโรงเรียนยอดเยี่ยม ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเข็มคุรุสดุดีจากคุรุสภา ได้รับเกียรติบัตรข้าราชการพลเรือนดีเด่น เกียรติบัตร คนดีศักดิ์ศรีแห่ง สป. และรางวัลที่ภาคภูมิใจ ที่ถือเป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูลมากที่สุด คือ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก ซึ่งเป็นชั้นสายสะพายสาย 1 และประถมาภรณ์มงกุฏไทย ซึ่งเป็นชั้นสายสะพายสาย 2

มูนมังเมืองอุบล-วิลาวัณย์-ศรศิลป์-02.jpg

ผอ.วิลาวัณย์ เกษียณอายุราชการ 1 ตุลาคม 2552 แต่จะเกษียณแล้ว ก็ยังทำงาน และทำการกุศลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในลักษณะจิตอาสา ด้วยการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ร่วมกิจกรรมประชุมสัมมนา กิจกรรมสาธารณกุศล และงานบุญประเพณีต่างๆ ของจังหวัด และสถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ และเป็นกรรมการทำงานสาธารณประโยชน์หลายองค์กร ด้วยคุณความดีที่ทำมา คณะกรรมการมูนมังเมืองอุบลราชธานี จึงมีฉันทามติให้ นางวิลาวัณย์ ศรศิลป์ ได้รับรางวัล สาขาผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม มูนมังเมืองอุบล

เรียบเรียงข่าวโดย ไกด์อุบล

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511