guideubon

 

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง !!! อธิการบดี ม.อุบลฯ ไม่ผิด ม.157

ยกฟ้อง-นงนิตย์-ธีระวัฒนสุข-01.jpg

วันที่ 11 สิงหาคม 2558 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีอาญาระหว่าง รองศาสตราจารย์ธาดา สุทธิธรรม โจทก์ กับ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดต่อตำแน่งหน้าที่ราชการ (ม.157) โดยศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ 

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 22 ธันวาคม 2554 จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีคำสั่งลงโทษวินัยร้ายแรงไล่โจทก์ออกจากราชการ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) ต่อมาคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ (อ.ก.พ.อ.) ทำหน้าที่แทน ก.พ.อ. มีมติให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัย และให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการ  และเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษามีหนังสือแจ้ง มติ อ.ก.พ.อ. ให้จำเลยปฏิบัติตาม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2555

แต่ระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2556 จำเลยไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการและให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการตามเดิมตามคำสั่งของ ก.พ.อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ สกอ. แจ้งมานั้นเป็นเพียงมติของ อ.ก.พ.อ. ไม่ใช่ คำวินิจฉัยของ ก.พ.อ. ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า อ.ก.พ.อ. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์แทน ก.พ.อ.  โดยอ้างบันทึกความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยวินิจฉัยในกรณีคล้ายกันไว้ว่า อำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ที่ไม่อาจมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการหรือบุคคลอื่นใด ทำหน้าที่แทนได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพทั้งสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี

อีกทั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรณีการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า อ.ก.พ.อ. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์แทน ก.พ.อ. ได้ ฉะนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มติ อ.ก.พ.อ. ดังกล่าว เพราะเป็นคำสั่งที่กระทำโดยผู้ที่ไม่อำนาจในเรื่องนั้น อีกทั้งจำเลยได้เสนอความเห็นและข้อเสนอของฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับ มติ อ.ก.พ.อ. ให้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพิจารณาให้คำแนะนำ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยก็มีมติให้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลเพิกถอนมติ อ.ก.พ.อ. ดังกล่าว และให้ ก.พ.อ. ทำการพิจารณาใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่จำเลยดำเนินการมาทั้งหมด ก็เพื่อให้มีข้อยุติในปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 12,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี  โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ยกฟ้อง-นงนิตย์-ธีระวัฒนสุข-02.jpg

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา สรุปความว่า เหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้น เนื่องมาจากฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัย มีความเห็นเสนอจำเลยว่ามติของ อ.ก.พ.อ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุผลสำคัญว่า คณะอนุกรรมการดังกล่าวไม่ใช่คณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยขี้ขาดอุทธรณ์ตามกฎหมายได้ เพราะคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาด ให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่แทนได้ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเคยวินิจฉัยในกรณีที่คล้ายคลึงกันว่า อำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดพิพาท ที่ไม่อาจมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการหรือบุคคลอื่นใดทำหน้าที่แทนได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อสถานภาพทั้งสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี และจำเลยเลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นดังกล่าว

แม้ความเห็นดังกล่าว จะไม่สอดคล้องกับความเห็นที่ว่า ความในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และความในมาตรา 16 วรรคหนึ่ง และตามความในข้อ 4 แห่งข้อบังคับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีถูกสั่งให้ออกจากราชการ หรือกรณีถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก พ.ศ. 2549

แต่เมื่อความเห็นที่ต่างกันในข้อกฎหมาย ทั้งสองต่างมีน้ำหนักฟังได้ว่าอาจจะถูกต้องด้วยกัน การที่จำเลยในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน เลือกที่จะสั่งการโดยยึดถือความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของฝ่ายกฎหมายเสนอความเห็น ด้วยการใช้สิทธิทางศาล โดยการยื่นฟ้องคดีให้ศาลปกครองวินิจฉัยเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไปนับว่าเป็นการกระทำที่มีเหตุสมควร   ไม่มีผลทำให้การเลือกวินิจฉัยสั่งการว่าสมควรให้สิทธิทางศาลกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบไปได้ และจำเลยไม่มีเจตนาที่มุ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่เพียงประการเดียว และไม่ปรากฏเลยว่าการเลือกสั่งการเช่นนั้นจำเลยมุ่งหมายแต่จะกลั่นแกล้ง เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยมีสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน หรือมีสาเหตุจูงใจอื่นอันไม่สุจริต

อีกทั้งฝ่ายกองกฎหมาย มิได้แสดงความเห็นประกอบด้วยว่า หากจำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิทางศาลแล้ว ก็ยังสามารถเลือกสั่งการในทางเลือกที่เหลือ อันเป็นคุณแก่โจทก์มากกว่าพร้อมกันไปได้โดยไม่มีผลเป็นการลบล้างการจะใช้สิทธิทางศาล และไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้ข้อกฎหมายดังกล่าวได้เองอยู่แล้ว แต่ยังขืนไม่เลือกสั่งการในทางเลือกที่เหลือไปพร้อมกัน

แต่ข้อเท็จจริงกลับฟังได้ว่า เมื่อสำนักงานกฎหมายและนิติการ เสนอให้จำเลยรู้ข้อกฎหมายดังกล่าวในภายหลังคือในวันที่ 25 ตุลาคม 2556  จำเลยก็รีบดำเนินการสั่งให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการ และสั่งให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการทันทีในวันที่ 30 ตุลาคม 2556

นอกจากนี้ หลังจากจำเลยเลือกดำเนินการว่าจะใช้สิทธิทางศาลแล้ว การดำเนินการก็มีความคืบหน้าและสืบเนื่องติดต่อกันตลอดมา โดยในระยะเวลา 1 ปี 1 เดือนเศษนั้น จำเลยนำเรื่องของโจทก์เสนอให้สภามหาวิทยาลัยรับทราบ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เสนอให้สภามหาวิทยาลัยรับทราบการที่ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี และจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สำหรับการไม่รับฟ้องคดีของศาลปกครองกลาง ต่อสู้คดีที่โจทก์ฟ้องมหาวิทยาลัยต่อศาลปกครองขอนแก่น และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการ จนคดีทั้งสองขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดแล้ว มิใช่ว่าจำเลยเก็บงำเรื่องของโจทก์ไว้เฉยๆ โดยไม่ดำเนินการอย่างไร

ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษ เพื่อกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่เพียงประการเดียว โดยทำให้โจทก์ได้กลับเข้ารับราชการล่าข้าออกไป เพิ่มขั้นตอนดำเนินการให้มากขึ้นโดยไม่สมควร การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้างตามฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยถูกศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาจำคุกและให้รอการลงโทษ จำนวน 2 คดี คือคดีหมายเลขดำที่  998/2557 หมายเลขแดงที่ 2170/2557  ที่นางรัชนี นิคมเขตต์ เป็นโจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิด ตาม ม.157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ไม่ปฏิบัติตาม มติ อ.ก.พ.อ.  และ คดีหมายเลขดำที่ 1649/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 3545/2557 ที่นายกังวาน ธรรมแสง กับพวก เป็นโจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา  โดยศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองคดี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511