guideubon

 

เจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ หนุนงาน อุบลใบลานเสวนา ครั้งที่ 1

ใบลานเสวนา-อุบล-01.jpg

วันที่ 16 สิงหาคม 2562 พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงาน "อุบลใบลานเสวนา ครั้งที่ 1" ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) อ.เมือง อุบลราชธานี พร้อมกับมอบปัจจัยให้คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม เพื่อดำเนินการสานต่อกิจกรรมนี้ใรครั้งต่อๆ ไป โดยพระเดชพระคุณ พระเทพวราจารย์ ได้ให้โอวาทข้อคิดเกี่ยวกับเอกสารใบลานไว้ 3 หลักด้วยกัน กล่าวคือ ใบลานนั้นเป็น "หลักฐาน" ใบลานเป็น "หลักคิด" และใบลานนั้นเป็น "หลักธรรม" อยากเห็นใบลานมีชีวิต ถูกหยิบจับออกมาศึกษา ถอดความ มากกว่าเห็นแต่เก็บอยู่ในตู้เฉยๆ

ใบลานเสวนา-อุบล-02.jpg

ภายในงานทีการจัดนิทรรศการ "อุบลใบลานนิทัศน์" โดย ผศ.ดร.บูญชู ภูศรี จากคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ นิทรรศการ "สมุดหมายเหตุรายวัน โรงเรียนบ้านเกษม อ.ตระการพืชผล อุบลราชธานี และการนำชมพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม

คัมภีร์ใบลาน-โบราณ-วัดมณีวนาราม-อุบล-05.jpg

ข้อมูลจากหนังสือ "อุบลใบลานนิทัศน์ อักษร ประวัติศาสตร์ และศาสนา" โดย ผศ.ดร.บูญชู ภูศรี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงเอกสารใบลานเมืองอุบลราชธานี ศึกษาจาก 6 วัด เป็นวัดที่ตั้งในตัวเมืองอุบลราชธานี 3 วัด และนอกตัวเมืองอุบลราชธานีอีก 3 วัด พบว่า มีเอกสารใบลานที่มีอายุเก่ากอนการตั้งวัด แสดงว่า มีการเคลื่อนย้ายเอกสารมาจากแหล่งอื่นด้วย

โดยเอกสารใบลานส่วนใหญ่บันทึกเรื่องราวของศาสนา มีทั้งเอกสารที่มีอายุก่อนการสร้างบ้านแปงเมือง และเอกสารที่สร้างขึ้นในเมืองอุบลราชธานี ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ และเผยแพร่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

คัมภีร์ใบลาน-โบราณ-วัดมณีวนาราม-อุบล-07.jpg

วัดกลาง อ.เมือง อุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่รองจากวัดหลวง ในอดีตพบเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเอกสารใบลานพบจำนวนน้อยลง ใบลานที่มีความโดดเด่นของวัดกลางคือ ใบลานเรื่องเวสสันดร ซึ่งแต่งเป็นโคลงสาร ผู้แต่ คือ นายสัสดี แสนสี บ้านหัวลิง อ.ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 มีปริวรรตเป็นภาษาไทยแล้วโดย มหาสิลา วีระวงศ์ ได้ชำระประมาณ พ.ศ.2478-2480 และมีการพิมพ์ซ้ำอีกเมื่อ พ.ศ.2523 โดยพระมหานิยม อุตตโม (ชาพลเมือง) อาจารย์ใหญ่ภาษาบาลี วัดฑาตุ (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นผู้ตรวจชำระ

คัมภีร์ใบลาน-โบราณ-วัดมณีวนาราม-อุบล-08.jpg

วัดเกษมสำราญ เดิมทีเป็นวัดอยู่ในเมืองเก่า คือ เมืองเกษมสีมา ขึ้นตรงกับเมืองอุบลราชธาี ทั้งนี้ วัดเกษมสำราญเป็นวัดที่มีความเป็นมายาวนาน และมีเอกสารใบลานที่สมบูรณ์จำนวนมาก มีความโดดเด่นของใบลานหลายด้าน ทั้งด้านความเก่าของเอกสารใบลาน คุณค่าของเรื่อง (เรื่องหายาก) คุณค่าของผู้จารใบลาน และที่สำคัญ ใบลานอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม ส่วนใหญ่จบเรื่อง หรือมีจำนวนผูกครบ ใบลานที่โดดเด่นจึงมีมากมาย อาทิ เอกสารใบลานเรื่องเล่าที่เล่าในชุมชน คือเรื่อง จัวเพียมาลา

คัมภีร์ใบลาน-โบราณ-วัดมณีวนาราม-อุบล-10.jpg

วัดดุมใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ต.ดุมใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ อุบลราชธานี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 แต่มีเอกสารใบลานจำนวนมาก รวมถึงมีการสร้างตู้คัมภีร์โดยคนในท้องถิ่น เอกสารใบลานเป็นหลักฐานชั้นต้นของชุมชน ที่บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ชุมชน รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ไว้

อุบลใบลานเสวนา-05.jpg

วัดมณีวนาราม เป็นวัดที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีการรวบรวมเอกสารใบลานไว้เป็นจำนวนมาก จากการจัดระบบของกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารใบลาน พบว่ามีจำนวน 398 มัด เอกสารใบลานมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ถึง 26 โดยพุทธศตวรรษที่ 24 พบมากที่สุด

ใบลานที่มีศักราชเก่าที่สุดในวัดมณีวนาราม คือ โยชนาสุโพธาลังการ มีจำนวน 3 ผูก ซึ่งเขียนเลขศักราชไว้ที่หน้าปก พ.ศ.2112 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง

วัดหนองหลัก เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งมานานตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 24 มีเอกสารใบลานหลากหลายประเภท ทั้งเอกสารใบลาน สมุดข่อย มีการใช้อักษรที่หลากหลาย ทั้งอักษรธรรม อักษรไทยน้อย อักษรขอมไทย นับเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในการศึกษาเอกสารใบลาน

วัดหนองหลัก เป็นสำนักเรียนเก่าที่มีศิษยานุศิษย์จำนวนมาก ใบลานวัดหนองหลักจึงมีความหลากหลาย มีที่มาจากอย่างน้อย 4 แห่งด้วยกัน ไดแก่ จากเวียงจันน์ จากภาคกลางของไทย ใบลานที่บูรพาจารย์วัดหนองหลักสร้าง และใบลานที่มาจากพื้นที่ใกล้เคียง/ภาคอีสาน

คัมภีร์ใบลาน-โบราณ-วัดมณีวนาราม-อุบล-06.jpg

วัดหลวง เป็นวัดแรกประจำเมืองอุบลราชธานี เอกสารใบลานของวัดหลวงจึงมีเป็นจำนวนมาก ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2486-2488 เกิดสงครามอินโดจีน ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ผ้าห่อคัมภีร์จึงถูกโขมยนำไปขายด้วย เป็นเหตุให้เอกสารใบลานกระจัดกระจาย แตกมัด แตกผูก สูญเสียตามธรรมดาธรรมชาติ ทางวัดจึงบรรจุในกระสอบและฝังดินไว้ เป็นเหตุให้ปัจจุบันเอกสารใบลานของวัดหลวงเหลือน้อย

พบใบลานวัดหลวงที่มีศักราชเก่าที่สุด คือ เอกสารที่ไม่ปรากฎเรื่อง พบเพียงใบหลบหน้าระบุว่า เพิงแสนกับชายา (คำว่า "เพิงแสน" น่าจะเป็น "เมืองแสน") สร้างไว้ในปีจุลศักราช 972 ตรงกับ พ.ศ.2153