guideubon

 

ชาวบ้านร่วมฟ้อนรำเฉลิมฉลองครบรอบ 101 ปี อ.เขื่องใน

วันที่ 24 เมษายน 2561 ชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล แต่งกายชุดพื้นเมือง ร่วมฟ้อนรำในงานครบรอบ 101 ปี เขื่องใน และสมโภชดวงเมือง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

เครดิตวีดีโอโดย ผอ.ไพชยนต์ บุญสุภา

สำหรับชื่อ “เขื่องใน” เป็นชื่อตั้งตาม “หมู่บ้านเขื่องใน” ซึ่งจำเดิมชื่อ “เขี่ยงใน” เพราะภาษาอีสานโบราณไม่มีสระเอือ (เ-อื) เมื่อมีการเรียนภาษาไทยจึงกลายมาเป็น “เขื่องใน” หมู่บ้านเขี่ยงใน ตั้งชื่อตามชื่อหนองน้ำชื่อ “หนองเขี่ยง ” ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึกประมาณ 1 –2 เมตร ในหน้าฝน คล้าย “เขี่ยงปลา” หรือที่ปลาเตรียมวางไข่ในน้ำในฤดูฝน ชาวบ้านเรียก “เขี่ยงปลา”

บ้านเขื่องใน เป็นกลุ่มหมู่บ้านซึ่งประกอบด้วยบ้านเขื่องในเขื่องกลาง บ้านสว่าง และบ้านหนองใส ส่วนบ้านกวางคำ หรือบ้านโนนธาตุเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งมาพร้อมกับบ้านเขื่องใน อำเภอเขื่องในได้รับการจัดตั้งให้เป็นอำเภอตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2440 ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงแบ่งเมืองอุบลราชธานีออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร ในพื้นที่เมืองอุบลราชธานี มี 11 อำเภอ คือ “อำเภอปัจจิมูปลนิคม” เป็นนาม พระราชทานมาจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอำเภอในปัจจุบัน

“ เขื่องใน ” หรือ “เขี่ยงใน” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ติดกับอำเภอเมืองอุบลราชธานี อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 43 กิโลเมตร เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในช่วงสามเหลี่ยมของปลายแม่น้ำเซบายและแม่น้ำชี ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ก่อนจะถึงเขตอำเภอเมืองอุบล  อำเภอเขื่องในจึงมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านทิศตะวันออก และทิศเหนือขนาบด้วยแม่น้ำลำเซบาย ส่วนด้านทิศใต้ขนาบด้วยแม่น้ำชี และในอดีต พื้นที่ระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเคยเป็นเขตอำเภอเขื่องใน ภายหลังโอนไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงเหลือ 3 ตำบลที่ยังขึ้นกับอำเภอเขื่องใน คือ ตำบลนาคำใหญ่ ตำบลแดงหม้อ และตำบลธาตุน้อย ส่วนด้านทิศตะวันตกจดอำเภอคำเขื่อนแก้วและอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร มีพื้นที่ 782.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 489,250 ไร่ มีถนนแจ้งสนิทจากตัวเมืองอุบลราชธานี ( ทางหลวงหมายเลข 23 ) ผ่ากลางพื้นที่จากตะวันออก - ตะวันตก ตามแนวที่ราบสูงกลางพื้นที่อำเภอซึ่งมีพื้นที่ลาดเอียงลงสู่ที่ราบลุ่มน้ำชีทางทิศใต้และที่ราบลุ่มลำน้ำเซบาย ทางด้าน ทิศเหนือ ทำให้อำเภอเขื่องในเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การตั้งถิ่นฐานอย่างยิ่งจึงมีหมู่บ้านหลักๆ จำนวนมาก ที่เป็นถิ่นฐานของ “บรรพบุรุษชาวอุบลราชธานี” ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนกลุ่ม “ เจ้าพระวอพระตา” หลบภัยมาตั้งเมือง “อุบลราชธานี ศรีวนาลัย” ในสถานที่ปัจจุบัน