guideubon

 

ขบวนแห่พระแก้วโบราณ มหาสงกรานต์เมืองอุบล ปี 2566

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-01.jpg

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมงานประเพณีหลายๆ งานต้องงดไป ดังเช่น งานประเพณีสงกรานต์จังหวัดอุบลราชธานี ที่ทุกๆ ปี จะมีการอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมขึ้นเสลี่ยงคานหาม เข้าขบวนแห่ไปรอบๆ เมือง (ย่านเมืองเก่า) เพื่อให้ชาวอุบลได้สักการะและสรงน้ำ ก็ต้องงดไป คงไว้แต่การอัญเชิญมาประดิษฐานที่บุษบกฮางฮดภายในบิเวณวัดศรีอุบลรัตนาราม ให้ชาวอุบลฯ ได้สรงน้ำกัน

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-02.jpg

ปี พ.ศ.2566 เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย กลายเป็นโรคประจำถิ่น กิจกรรมต่างๆ ที่เคยงดไปก็ได้กลับมาจัดกันอีกครั้ง ประเดิมงานแรกของปี ด้วยประเพณีมหาสงกรานต์เมืองอุบลฯ ที่เทศบาลนครอุบลราชธานี ริเริ่มจัดให้มีขบวนแห่พระแก้วโบราณพร้อมๆ กันทั้ง 5 องค์ ในวันที่ 13 เมษายน 2566 เคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางย่านเมืองเก่า จากหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ถนนอุปราช เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเขื่อนธานี ตรงไปถึงสี่แยกตัดกับถนนหลวง เลี้ยวขวาตรงไปถึงสี่แยกตัดถนนพรหมเทพ เลี้ยวขวาอีกครั้งเข้าสู่ถนนพรหมเทพ ตรงไปถึงวงเวียนน้ำพุ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนอุปราชอีกครั้ง ตรงไปถึงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เป็นอันสิ้นสุดขบวนแห่ และอัญเชิญกลับไปประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะสรงน้ำที่วัดตามประเพณีสงกรานต์ต่อไป

ถ้าจะกล่าวถึงตำนานเรื่อง "พระแก้วโบราณ" แห่งเมืองอุบลแล้ว ก็มีมานานแต่ครั้งโบราณ ตั้งแต่ยุคที่เจ้านครต่างๆ ล้วนแต่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้เสาะแสวงหาแก้วมณีมีค่าต่างๆ มาสลักเป็นพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชาในบ้านเมืองของตน เมื่อเวลาผ่านไป จึงได้ตกทอดมาถึงลูกหลาน เชื้อสายเจ้าเมืองอุบลฯ นับรวมทั้งสิ้นได้ 9 องค์ด้วยกัน ครบตามจำนวนมณีนพรัตน์ อย่างที่เราทราบกันดี  ได้แก่
- สีขาวผ่อง เพชรดี (สีขาว)
ทับทิม สีมณีแดง (สีแดง)
- เขียวใสแสง มรกต (สีเขียว)
- เหลืองใสสด บุษราคัม (สีเหลือง)
- แดงแก่ก่ำ โกเมนเอก (สีเลือดหมู)
- สีหมอกเมฆ นิลกาฬ (สีน้ำเงิน/ไพลิน)
มุกดาหาร หมอกมัว (สีขาวขุ่น)
- แดงสลัว เพทาย (สีแดงเข้ม)
- สังวาลย์สาย ไพฑูรย์ (สีเหลืองนวล)

กระทั่งช่วงราวๆ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ที่มีการส่งข้าหลวงจากเมืองกรุงมาดูแล ทำให้เกิดความกลัวเกรงว่า ข้าหลวงที่มานั้นอาจจะมายึดองค์พระแก้วสำคัญไปเป็นสมบัติส่วนตน หรือหาผลประโยชน์ในทางไม่ชอบ ทำให้พระแก้วทั้ง 9 องค์ถูกนำไปแอบซ่อนไว้ ล่วงมาถึงปัจจุบัน บางองค์ก็ถูกนำออกมาแล้ว บางองค์ก็เพิ่งถูกค้นพบ และบางองค์ก็ยังหาไม่พบ องค์พระแก้วที่หาพบแล้ว ส่วนใหญ่จะนำออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาในวาระสำคัญต่างๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่สากล

ปัจจุบัน พระแก้วนพรัตน์ที่กล่าวถึง พบแล้วทั้งสิ้น 6 องค์ด้วยกัน ได้แก่ พระแก้วบุษราคัม พระแก้วไพฑูรย์ พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง พระแก้วโกเมน พระแก้วนิลกาฬ พระแก้วมรกต

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง.jpg

สีขาวผ่อง เพชรดี

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
พระแก้วขาวเพชรน้ำค้างองค์นี้ เป็นพระปางสมาธิสูง 17 ซ.ม. เนื้อองค์เป็นแก้วผลึกสีขาวใส ซึ่งความใสขององค์พระประดุจน้ำค้างยามเช้าเปล่งแสงแวววาวในตัวเอง ดุจประกายเพชร จึงได้ชื่อว่า “ พระแก้วเพชรน้ำค้าง ” ฉลององค์ด้วยทองคำเป็นบางส่วน เพื่อความสวยงามและทรงคุณค่า

ในช่วงปี พ.ศ.2485 เจ้าพระคุณคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฎนาราม ได้มอบพระแก้วขาวองค์ศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าของวัดสุปัฎนาราม

พระรัตนมงคลนี้ เจ้าอาวาสวัดสุปัฎฯ ปัจจุบันสันนิษฐานว่า หลายฝ่ายทางโบราณคดี และพุทธลักษณะขององค์พระ คาดว่า “ พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง ” น่าจะเป็นรุ่นเดียวกับ “ พระแก้วบุษราคัม ” โดยยึดหลักจาก ตำนานการมาตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลฯ เมื่อ 200 ปี เศษมาแล้ว บรรพบุรุษผู้มาสร้างเมืองได้อันเชิญมาเพื่อเป็นสิริมงคลในการเดินทางอันยาวไกล และเป็นขวัญกำลังใจในการสู้รบกับศัตรูผู้รุกรานจนสร้างบ้านเมืองได้เป็นหลักแหล่งเท่าทุกวันนี้

มีการอัญเชิญพระแก้วขาว วัดสุปัฎนารามฯ ลงให้สาธุชนสรงน้ำขอพรปีใหม่สากล 31 ธันวาคม ถึง 2 มกราคม ของทุกๆ ปี

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-พระแก้วมรกต.jpg

เขียวใสแสง มรกต

พระแก้วมรกต วัดเลียบ
พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่ามีโยมมาถวายไว้ พุทธลักษณะคล้ายพระแก้วโกเมน วัดป่าน้อย

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-พระแก้วบุษราคัม.jpg

เหลืองใสสด บุษราคัม

พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม
เป็นพระพุทธรูปโบราณ อายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23 หน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูง 4 นิ้ว ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัม

ตามตำนานเล่ากันว่า พระวรราชภักดี (พระวอ) พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตา คือเจ้าคำผง เจ้าทิดพรหมและเจ้าก่ำ บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ได้เชิญพระแก้วบุษราคัมมาจากกรุงศรีสัตนาคณหุต (เวียงจันทน์) เดิมทีพระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่วัดศรีอุบลรัตนาราม พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมเป็นองค์ประธานในพิธีอันสำคัญยิ่งทางราชการ โดยถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสืบกันมาแต่โบราณกาล

ปัจจุบันในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวอุบลจะร่วมใจกันอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมแห่ไปรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ได้นมัสการกราบไหว้และสรงน้ำกันโดยถ้วนหน้า

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-พระแก้วโกเมน.jpg

แดงแก่ก่ำ โกเมนเอก

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม
ได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมาฟังได้ว่า พระแก้วโกเมนอุบัติขึ้นพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งประดิษฐานอยู่วัดศรีอุบลรัตนรามปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลแก้วเก้า ประการ คือ เพชร มณี มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดาหาร เพทาย และไพฑูรย์

เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายก-ทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนไปรักษาไว้อย่างดีที่วัดบ้านกุดละงุม อำเภอวารินชำราบปัจจุบัน และคณะผู้รักษาพระแก้วโกเมน ได้นำท่อนไม้จันทร์มาทำเป็นผอบใหญ่ คว่ำองค์พระพุทธรูปไว้ ด้วยเกรงว่าข้าศึกจะแย่งชิงไป ครั้งเมื่อศึกสงบลงจึงได้นำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับสืบต่อกันมา

ทั้งนี้ เนื่องด้วยพระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าหาได้ยากยิ่ง เกรงจะสูญหาย จึงหวงแหนด้วยความห่วงใย พระเดชพระคุณเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามที่ผ่านมาทุกรูป จึงเก็บรักษาพระแก้วโกเมนไว้ในตู้นิรภัยตลอดมา ครั้งเมื่อสิ้นสมัยหลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) คณะกรรมการวัดจึงขออนุญาตนำพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา และสรงน้ำในเทศกาลวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-พระแก้วนิลกาฬ.jpg

สีหมอกเมฆ นิลกาฬ

พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ
จากการสัมภาษณ์ พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2554 ท่านได้เล่าถึงที่มาของพระแก้วนิลกาฬ จากการได้พบกล่องลายไม้สักโบราณ ในขณะที่เป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.2545 โดยค้นพบบนฝาเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคลซึ่งเป็นกุฎิหลังเก่าของวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน 2 องค์ และ พระแก้วนิลกาฬ 1 องค์

ท่านได้อัญเชิญมาให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนสรงน้ำสงกรานต์ เมื่อพ.ศ.2549 เป็นต้นมา และได้จัดทำเครื่องทรงชฎา มงกุฎทองคำ ซึ่งทำจากพลอยแท้ ทองคำแท้ ถวายในภายหลัง

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-พระแก้วไพฑูรย์.jpg

สังวาลย์สาย ไพฑูรย์

พระแก้วไพฑูรย์ วัดหลวง
พระแก้วไพฑูรย์ แห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชนี้ เป็นพระแก้วเกิดจากหินธรรมชาติ มีอายุหลายล้านปีมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานาน แต่บรรพบุรุษของพระปทุมวราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพมหานครมาปกครองเมืองอุบล ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีเกรงว่าเจ้านายทางกรุงเทพจะบังคับเอาพระแก้วทั้งสององค์ไปเป็นสมบัติของส่วนตัว จึงได้พากันเอาพระแก้วทั้งสององค์แบกออกจากกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิด ไม่ยอมแพร่งพรายให้คนทั่วไปรู้

ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) โดยเจ้าอุปฮาชโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงได้ไปเชิญเอาพระแก้วทั้งสองออกมาจากที่ซ่อน สำหรับพระแก้วบุษราคัมนั้น ได้ถวายแด่พระเดชพระคุณพระเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) และเป็นลัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มาจากกรุงเทพคงจะมีความเกรงใจไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วบุษราคัม พระแก้วไพฑูรย์ไปจากเมืองอุบลราชธานี

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายากของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีเอาไปเก็บรักษาไว้ เพราะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษ ต่อมาภายหลังจึงได้นำมาถวายพระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวงให้เป็นสมบัติของวัดหลวงตามเดิม ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ นับว่าพระไพฑูรย์องค์นี้เป็นสมบัติของวัดหลวง และของเจ้านายเมืองอุบลราชธานีมาแต่โบราณโดยแท้

พระแก้วไพฑูรย์เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ หากจะยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดลงมาจากฟ้าอันเป็นนิมิตหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล

หากนับพระแก้วโบราณตามที่ถูกค้นพบแล้ว มี 6 องค์ ยังขาดอีก 3 องค์ ได้แก่ พระแก้วทับทิม พระแก้วมกดา และพระแก้วเพทาย ซึ่งยังเป็นตำนานปริศนาให้ค้นคว้ากันต่อไป

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-03.jpg

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-04.jpg

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-05.jpg

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-06.jpg

ขบวนแห่พระแก้ว-สงกรานต์2566-07.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511