guideubon

 

งานแสดงแสงสีเสียง เทิดพระวีรกรรม กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์-แสงสีเสียง-01.jpg

มณฑลทหารบกที่ 22 ร่วมกับ กรมทหารราบที่ 6 กำหนดจัดงาน เทิดพระวีรกรรม พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ณ มณฑลลาวกาว ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งค่ายสรรพสิทธิประสงค์

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์-แสงสีเสียง-02.jpg

ชมการแสดงแสง สี เสียง ยิ่งใหญ่ตระการตา การออกงานร้านค้าต่างๆ มีการเเสดงพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ตลาดย้อนยุคโบราณ และนิทรรศการ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ วันที่ 15-16 มีนาคม 2562 เวลา 17.00 - 22.00 น.

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์-01.jpg

พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (พระองค์เจ้าชายชุมพลสมโภช) ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2400 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 37 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ และเป็นองค์ที่ 3 (พระองค์สุดท้าย) ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง

ทรงได้รับศึกษาเล่าเรียนเหมือนเช่นเจ้านายชั้นสูงทั่วๆ ไป เมื่อถึงระดับอุดมศึกษาได้ทรงศึกษาวิชาธรรมศาสตร์ และวิชาช่างที่โปรดโดยไม่ได้เสด็จไปศึกษาต่างประเทศแต่ประการใด ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้ทรงเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณ

โดยครั้งแรก ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกาและศาลแพ่ง หลังจากนั้นได้ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการที่สำคัญอีกหลายประการ

ในขณะที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่ง "ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว" (เปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลอีสาน เมื่อ พ.ศ.2443) ประทับที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลานานถึง 17 ปี คือตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน .2436 ถึงประมาณวันที่ 1-10 พฤษภาคม 2453 (ก่อนที่จะสิ้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงไม่กี่เดือน) ได้ปรับปรุง พัฒนาเมืองอุบลราชธานีในทุกๆ ด้าน อาทิ

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์-แสงสีเสียง-04.jpg

1. ด้านการทหาร จัดตั้งกองทหารที่เมืองอุบลราชธานี พ.ศ..2431 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีสารตราตั้งกองทหารขึ้นที่เมืองอุบลราชธานีและนครจำปาสักเป็นครั้งแรก การเกณฑ์ทหารในท้องที่เมืองอุบลราชธานีมีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2457 และต่อมารัฐบาลก็ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารได้ครบทุกมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรในปี พ.ศ..2499

2. ด้านการปกครอง ทรงเปลี่ยนชื่อ เสิม เป็นแขวง ผู้ปกครองเสิม เรียกนายแขวง ทรงเพิ่มตำแหน่งตาแสง จ่าบ้าน จากเดิมตำแหน่งนี้มีผู้ปกครองเพียงคนเดียว ให้เพิ่มเป็น 3 คน ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของหมู่บ้าน หากเป็นหมู่บ้านใหญ่ให้ชื่อว่า นายตำบลบาล และเพิ่มกองปราบในส่วนภูมิภาคขึ้นอีก นอกจากนั้น ได้ทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดราชการ โดยเลือกเอาบุตรหลานข้าราชการจากหัวเมืองใหญ่มาอบรมให้มีความรู้ด้านปกครอง การสอบสวน คดีแพ่ง อาญา การเขียนคำร้อง ตรวจสำเนาอรรถคดีความ แล้วให้รับราชการในท้องถิ่นของตนต่อไป

3. ด้านการคมนาคม ทรงจัดตั้งโรงเรียนแผนที่ขึ้น สอนให้รู้จักการทำถนนหนทาง ทั้งถนนในเมืองอุบลราชธานีและนอกเมือง ออกสำรวจวางสายโทรเลขระหว่างหัวเมืองมณฑลจากอุบลราชธานีไปช่องเม็กและนครจำปาสัก เป็นต้น

กบฏผีบุญ-อุบล-01.jpg

4. ด้านการปราบกบฏผีบ้าผีบุญ เมื่อปี พ.ศ.2442 มีผู้อวดอ้างเป็นผู้วิเศษปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อแผ่นดิน ซึ่งเรียก “ผีบ้าผีบุญ” เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในเขตการปกครองของมณฑลอีสานหลายเมือง เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และยโสธร พระองค์ได้ดำเนินการปราบปรามจนสงบเรียบร้อย

5. การจัดตั้งกองตำรวจภูธร ทรงขอจัดตั้งกองตำรวจภูธรขึ้นในมณฑลอีสานประจำเมืองอุบลราชธานี ณ บริเวณหนองสะพัง คือ บริเวณวัดเหนือวัดป่าใหญ่ (วัดมหาวนาราม) ในปัจจุบัน

6. ด้านการศึกษา ในสมัยพระยาศรีสิงหเทพ (ทัด ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงประจำเมืองอุบล ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ 2 แห่ง คือ โรงเรียนวาสิกสถานอุบล เพื่อเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทย และโรงเรียนหญิง คือ โรงเรียนนารีนุกูล (โรงเรียนอนุบาลฯ ในปัจจุบัน) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรงเรียนแม่หนู เพื่อสอนวิชาการบ้านการเรือนสำหรับสตรี

7. การจัดที่ราชพัสดุ หลังจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ทรงรับหม่อมเจียงคำมาเป็นชายาในปีพุทธศักราช 2437 พระองค์ทรงมีรับสั่งต่อพระชายา หม่อมเจียงคำ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) อันเป็นญาติผู้ใหญ่ของชายาว่า ที่ดินทั้งหลายซึ่งทางราชการได้อาศัยอยู่ในขณะนี้นั้น พระยาสิงหเทพ (ทัด ไกรฤกษ์) และพระยาภักดีณรงค์ (สิน ไกรฤกษ์) ข้าหลวงเมืองอุบลแจ้งว่าเป็นที่ดินมรดกตกทอดจากราชบุตรสุ่ยผู้เป็นบรรพบุรุษของคนเหล่านี้ ข้าหลวงได้อาศัยเป็นสำนักของทางราชการมาช้านาน แต่ยังไม่คิดค่าตอบแทนให้จึงอยากให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินช่วยกันพิจารณาคิดค่าที่ดิน บุคคลคณะนี้จึงขอพระราชทานเวลาไปปรึกษาหมู่คณะญาติ ในที่สุดก็ตกลงกันว่าควรยกที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่แผ่นดินเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับคนรุ่นหลังโดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด

8. การพระศาสนา ทรงอุปถัมภ์กิจการพระศาสนา บูรณะปฏิสังขรณ์วัดขึ้นหลายแห่ง เช่น วัดเลียบ วัดสารพัดนึก และวัดบูรพาราม

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์-แสงสีเสียง-03.jpg

ตลอดระยะเวลาเกือบ 17 ปี  (พ.ศ.2436-2453) ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ประทับที่เมืองอุบลราชธานี ใน ได้ทรงปรับปรุง พัฒนาเมืองอุบลราชธานีในทุกๆ ด้าน อันแทบจะกล่าวได้ว่า กิจการหลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฏอยู่ในบริเวณเมืองอุบลราชธานีในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการ หัวเมืองมณฑลลาวกาว หรือมณฑลอีสาน ประทับที่เมืองอุบลราชธานีเกือบทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้ว พระโอรส พระธิดา ก็ทรงมีพระทัยอันเป็นกุศล บริจาคที่ดิน ทรัพย์สินเงินทอง ให้โรงพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล และหน่วยงานราชการในจังหวัดอุบลราชธานีอีกเป็นจำนวนมาก

กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์-แสงสีเสียง-05.jpg

จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ชาวอุบลราชธานีรุ่นหลัง จักได้สำนึกในคุณงามความดี และพระกรณียกิจที่พระองค์ทรงกระทำไว้ โดยนำนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อสถานที่ราชการ และถนนหนทางหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์,  โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์,  วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธประสงค์, ถนนสรรพสิทธิ์ ฯลฯ

ปี พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์นั้นมีพระชันษามากแล้ว สมควรที่จะได้พักผ่อนในบั้นปลายชีวิตบ้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นเสนาบดีที่ปรึกษา มีหน้าที่เฉพาะการอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ก็โปรดฯ ให้ประทับเป็นผู้ใหญ่อยู่ในพระราชวังดุสิตสืบมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2465 พระชันษาได้ 65 ปี