สั่งเข้มทุกโครงการชลประทาน จับตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
วันที่ 11 กันยายน 2564 นายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่จับตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หลังอุตุประกาศเตือน พายุโซนร้อนโกนเซินบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามและทวีความรุนแรงขึ้น โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
1 สำรวจอ่างเก็บน้ำ ที่มีเกิน 80% พร่องน้ำและ เตรียม กาลักน้ำ ในกรณี เหตุฉุกเฉิน
2 เฝ้าระวัง ความพร้อม ในพื้นที่เสี่ยง ทุกจุด
3 วางคน แต่ละจุด เพื่อ เฝ้าระวัง
4 เตรียมพร้อม เครื่องจักร เครื่องมือ ในการเผชิญเหตุ และป้องกัน
5 แจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร
6 รายงาน ให้สำนัก ทราบ ใน 2 ชั่วโมงและเข้าถึงพื้นที่ที่เดือดร้อนใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนให้ราษฎรที่อยู่ติดริมแม่น้ำ เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ โทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
โดยเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (11 ก.ย.64) พายุโซนร้อนกำลังแรง "โกนเชิน" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 185 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรืออยู่ที่ละติจูด 15.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 13 กม/ซม. คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองดานัง ประเทศเวียดนามในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย.64) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ในขณะที่มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบตามพื้นที่บริเวณจังหวัดต่างๆ ดังนี้
วันที่ 12 กันยายน 2564 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ที่จังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
วันที่ 13 กันยายน 2564 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ที่จังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำบำาไหลหลากได้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กรมอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิดต่อไป