ชวนกันไปชม ก่อนจมหาย "สามพันโบก" อันซีนเมืองอุบล
สามพันโบก คือ การเกิดพ็อตโฮ (Pothole) เกิดบนท้องสะดือทะเลเดิม ที่มีร่องกระแสน้ำตัดกัน ทำให้เกิดการหมุนวนซ้ำๆ ตลอด บางแห่งเกิดจากพายุหมุนกลางมหาสมุทร ทำให้เกิดกระแสน้ำหมุนวน กระแสน้ำหมุนเอาเม็ดทราย เปลือกหอย ซากประการัง ขูดผิวดินและหินที่อ่อน ใช้เวลานับล้านปี จึงเกิดเป็นหลุมตามที่เห็น
เมื่อประมาณ 300 ล้านปีที่แล้ว เปลือกโลกชมพูทวีปและมหาสมุทรอินเดียเกิดการเคลื่อนตัวครั้งใหญ่ ทำให้แผ่นท้องทะเลพลิกดันมา เป็นอิสานและไทย ทั้งประเทศรอบๆ โดยมีขอบทะเลเดิมคือ แม่น้ำโขงในปัจจุบัน
นอกจากพ็อตโฮแล้ว ยังมีภูเขาเกลือ และสุสานหอยต่างๆ ใต้พื้นดินอิสาน รวมทั้งแก๊สน้ำมันจากซากสัตว์ทะเลโบราณ ทำให้ยืนยันได้ว่า อีสานและพื้นที่โดยรอบคือ พื้นท้องทะเลเดิมนั่นเอง
ตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวๆ เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จนถึงฤดูแล้ง “สามพันโบก” จะโพล่ขึ้นมาเหนือพื้นน้ำกลางลำน้ำโขง โชว์ความสวยงามวิจิตรตระการตา ซึ่งหินดังกล่าวจะมีลักษณะและรูปทรงที่แตกต่างกันไป และด้วยชั้นหินที่กินพื้นที่กว้างใหญ่มาก จึงดูคล้ายกับแกรนด์แคนยอน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนมีผู้ขนานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “แกรนด์แคนยอนเมืองสยาม สามพันโบกเมืองอุบล”
และตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว สามพันโบกก็จะถึงเวลาพักผ่อน ซ่อมแซมตัวเองตามธรรมชาติด้วยสายน้ำโขงที่มาปกคลุม เป็นช่วงอำลาสามพันโบก ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะค่อยๆ สูงขึ้นทุกวันจน สามพันโบกจมหายไปในที่สุด
การเดินทางไปสามพันโบก จากตัวจังหวัดอุบล วิ่งตามทางหลวงหมายเลข 2050 ผ่านอำเภอตระการพืชผล ไปยัง อำเภอโพธิ์ไทร ด้วยระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร และเดินทางต่อไปยังบ้านสองคอนเข้าไปหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ยั่งสามารถเดินทางได้ด้วยรถโดยสารประจำทาง อุบล-เขมราฐ ลงที่ สองคอน หลังจากนั้นก็โทรแจ้งให้รีสอร์ทขับรถมารับ (เสียค่าใช้จ่ายแล้วแต่ตกลง) หรือ อาจจะอาศัยโบกรถของชาวบ้านมาลงแถวนั้น
ขอบคุณภาพ/ ข้อมูลโดย Suriyan Kitswat