guideubon

 

เทศกาลปีใหม่ ชมดวงอาทิตย์ พิชิตเนิน 500 สมรภูมิรบช่องบก

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-01.jpg

ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2561 องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เชิญชวนนักท่องเที่ยวและประชาชน ร่วมงานรับแสงตะวัน 3 ประเทศ ไทย ลาว กัมพูชา บนจุดสูงสุดของเนิน 500 สมรภูมิช่องบก โดยมีกิจกรรมนำเที่ยวทั้งทางรถยนต์ ทางจักรยาน และทางเท้า และมีเกียรติบัตรให้ ” ผู้พิชิตเนิน 500 ” ในเทศกาลปีใหม่ ชมดวงอาทิตย์ พิชิตเนิน500 อีกด้วย

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-02.jpg

นายญาณกิตต์ กันยาพงษ์ ปลัด อบต.โดมประดิษฐ์ ผู้ร่วมจุดประกายฟื้นฟูสมรภูมิช่องบกและเนิน 500 ให้เป็นสถานที่ทองเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในเขตความรับผิดชอบของ อบต. มีพื้นที่สำคัญหลากหลาย ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบกับการส่งเสริมฟื้นฟูอนุสรณ์สถานวีรกรรมนักรบไทย ที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งประชาชนคนไทยแนวหลังควรจะสืบสาน รำลึกถึงความดีงามและการเสียสละของทหารหาญทุกนาย ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ร่วมกับทุกภาคส่วน จึงได้จัดให้มีพิธีทำบุญอุทศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตในสมรภูมิรบช่องบก (ณ เนิน 500 ) ในวันที่ 2-3 มกราคม 2561 นี้

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-03.jpg

สำหรับ เนิน 500 ในสมรภูมิรบช่องบก มีความสำคัญมากจนนักประวัติศาสตร์ นักเขียน นักข่าว เขียนได้ไม่มีวันจบ เคยเป็นฐานที่ตั้งของการก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเป็นโรงเรียนทางการเมือง อบรมลัทธิคอมมิวนิสต์อาเซียนแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2518 และมีเหตุการณ์การต่อสู้ในประเทศกัมพูชา จนถึงในปี 2528 กองกำลังต่างชาติได้บุกยึดสมรภูมิเนิน 500 เพื่อเป็นป้อมบัญชาการต่อสู้ และผลักดันกองกำลังทหารเขมรแดง ส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน กองกำลังทหารไทย ภายใต้การนำของแม่ทัพภาคที่ 2 และหน่วยสนับสนุนได้ต่อสู้และปกป้องผืนแผ่นดินไทย จนสิ้นสุดภารกิจสำคัญถึงปลายปี 2531 แต่ไทยเราได้สูญเสียวีระบุรุษนักรบ และพลเรือนจำนวนมาก

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-04.jpg

สมรภูมิรบช่องบก มีบันทึกและสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อยกย่องเป็นเกียรติแก่วีระบุรุษ 2 แห่ง คือ อนุสรณ์เกียรติภูมิ พันเอก อนุพงษ์ บุญญะประทีป และอนุสรณ์วีรกรรม จ่าสิบเอกสมชาย แก้วประดิษฐ์ เมื่อภัยสงครามตามแนวชายแดนสงบลง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี จึงมีสถานที่สำคัญเพิ่มขึ้น ในนาม สามเหลี่ยมมรกต และสมรภูมิช่องบก และได้รับการพัฒนาฟื้นฟู มีโครงการพระราชดำริและการส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จัก ไม่น้อยไปกว่า สมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีโครงการชลประธานอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนล่าง และตอนบน ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอาชีพและสร้างรายได้ด้านประมง และใช้น้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย  

ภาพสลักนารายบรรทมสินธุ์-อุบล-03.jpg

นอกจากนี้ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีสถานทีสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยและอาเซียน เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ที่ค้นพบภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในแผ่นหินใต้น้ำโดม บนเทือกเขาพนมดงรัก ขนาดยาว 120 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ลักษณะพระนารายณ์บรรทมตะแคงขวา อยู่เหนือพญานาค 7 เศียร คาดว่าอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-17 และมีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สายน้ำ เกาะแก่งที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นเขตอนุรักษ์พันธุสัตว์ป่า และอุทธยานแห่งชาติ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ตลอดปี

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-05.jpg

นายศิโรรัตน์ พลไชย ประธานสาขาวิชา นิเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายคณิต มณีเนตร นักเทคโนโลยี และนายอติชาต แผ้วพลสง นักศึกษานิเทศศาสตร์ ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้เดินทางสำรวจบันทึกภาพสถานที่สำคัญเพื่อรวบรวมข้อมูลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี โดยเริ่มจากจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเดชอุดม ระยะทาง 40 กิโลเมตร และไป อำเภอน้ำยืน 55 กิโลเมตร และไปองค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ ระยะทาง 16 กิโลเมตร และเดินทางจากถนนสายหลัก เข้าสู่ดินแดนสมรภูมิช่องบก

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-06.jpg

จุดแรกผ่านอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนล่าง และเดินทางถึงอนุสรณ์สถานพันเอกอนุพงษ์ บุญญะประทีป ที่อ่างพลาญเสือตอนบน เพื่อเข้าสู่ช่องบก และเดินทางต่ออีกประมาณ 5 กิโลเมตรเมตร ถนนดินขึ้นภูเขาถึงเนิน500 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในสมรภูมิรบช่องบก มีอนุสรณ์สถานวีรกรรม จ่าสิบเอกสมชาย แก้วประดิษฐ์ และสามารถชมวิวอันสวยงามสามประเทศ “ สามเหลี่ยมรกต ” ที่มีความประทับใจและควรรำลึกตลอดไป 

เนิน500-สมรภูมิช่องบก-อุบล-08.jpg

ดินแดนสามเหลี่ยมมรกต
งดงามผลาญเสือ
เหลือเฟืออัญมณี
มากมีพืชเศรษฐกิจ
ถิ่นสถิตนารายณ์บรรทมสินธุ์
ทุกถิ่นล้วนพัฒนา  

ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
ศิโรรัตน์ พลไชย /อติชาติ แผ้วพลสง /ภาพ
22 ธันวาคม 2560  

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511