การแสดงงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 เวทีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพการจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 ภายใต้ชื่องาน “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ มี 92 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พร้อมด้วยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมแสดงและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมในครั้งนี้ด้วย
การแสดงแบ่งออกเป็น 3 เวที ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการแสดงตลอดทั้งวัน ได้แก่
- เวทีหอประชุมไพรพะยอม
- เวทีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ
- เวทีตลาดสุขใจ
สำหรับเวทีโรงละคร ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มีการแสดงเฉพาะวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ภาคเช้า เริ่มเวลา 09.00 น. และภาคบ่าย เริ่มเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ตามลำดับการแสดง ดังนี้
การแสดงงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 เวทีหอประชุมไพรพะยอม
การแสดงงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 เวทีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ
การแสดงงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 เวทีตลาดสุขใจ
การแสดง : “ศรัทธามหาบุญจุลกฐิน ต๋ามวิถีคนเมืองแจ่มในล้านนา”
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
“แม่แจ่ม” อำเภอเล็ก ๆในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางหุบเขา อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อย่างประเพณีจุลกฐินแม่แจ่ม ที่สะท้อนแนวความคิด ด้านศาสนา อัตลักษณ์และวิถีชีวิต เพื่อฟื้นคืนภูมิปัญญางานถักทอผืนผ้าในหมู่บ้านของแม่ญิงเมืองแจ่มที่สืบทอดเป็นมรดกวัฒนธรรม และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งในศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมให้สืบสาน ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมวิถีถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดรายได้ และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชน และทรงใส่พระทัยต่อความเป็นอยู่ของราษฎรทุกกลุ่มชาติพันธุ์
การแสดง : The Mask Dance
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ระบำหน้ากาก ( THE MASK DANCE) เป็นการแสดงที่นำเอาเพลงสากลของ Budda ใช้ประกอบการแสดงโดยใช้ท่าเต้น ของท่าละครใบ้มาผสมผสานกับท่ารำของนาฏศิลป์ไทย โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็น การเคลื่อนไหวซึ่งมีลีลาท่าเต้นทั้งช้าและเร็วผสมผสานตามจังหวะเพลง ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกัน ลักษณะการแสดงสนุกสนานเร้าใจ ชวนติดตาม อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการแสดงคือหน้ากาก พัดใหญ่ และ ลูกแก้ว
ภูพระบาท
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ภูพระบาท หรืออุทยานแห่งชาติภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่กำลังขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก มีลักษณะเป็นเพิงหินในยุคทวารวดี มีรูปร่างคล้ายหอสูงที่เป็นตำนานพื้นบ้านอุสา-บารส และยังพบใบเสมาอยู่โดยรอบบริเวณ ที่เป็นหลักฐานทางพุทธศาสนา การแสดงจึงนำระบำเสมาเทวา ที่เชื่อกันว่ามีเทวดาสถิตอยู่ทั้ง ๘ ทิศ ประกอบกับตำนานพื้นบ้านอุสา-บารส ตอนนางอุสาเสี่ยงกระทงรูปหงส์จนพบรักกับท้าวบารส
ตะลุงขอปี่
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
ตะลุงขอปี่ เป็นการแสดงหนังตะลุงประยุกต์ ที่นำเอาศิลปะการแสดงหนังตะลุง และการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านหนังตะลุง มาจัดแสดงในรูปแบบของหนังตะลุงที่ใช้คนแสดงแทนรูปหนังตะลุง
รำหน้าพาทย์สีนวล
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“สีนวล” เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงาม อ่อนหวาน และมีอิริยาบถที่นุ่มนวลอ่อนช้อยตามลักษณะกุลสตรีไทย ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัดขึ้น
อตีตาญาลอ
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
“อตีตาญาลอ” ได้แนวความคิดมาจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเขายาลอ ตำบลยะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ที่มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณและภาชนะดินเผาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งสะท้อนถึงพิธีกรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในยุคนั้น โดยนำเสนอในรูปแบบนาฏศิลป์พื้นบ้านร่วมสมัย
พัสตราภรณ์ยอนยา ภูษาศิลป์
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
"พัสตราภรณ์ยอนยา ภูษาศิลป์" เป็นการนำเสนอรูปแบบวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีชาวไทยเชื้อสายจีนในกลุ่มชาติพันธุ์บาบ๋า ที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานในจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ประกอบด้วย จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา และภูเก็ต โดยพบรูปแบบการแต่งกายในโอกาสสำคัญตามวัฒนธรรมประเพณี จำนวน ๘ รูปแบบ ได้แก่ ชุดเสื้อคอตั้งมือจีบ ชุดเสื้อครุยท่อน (ปัวตึงเต้) ชุดเคบาย่า ชุดครุยเจ้าสาว (บาจูปันจัง) ชุดครุยผ้าป่าน ชุดครุยนายหัวหญิง และชุดเสื้ออาจ้อ (เสื้อแบบอย่างทวด)
ฟ้อนรำลายเกราะ
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ฟ้อนรำลายเกราะ ได้นำแนวคิดจากเครื่องดนตรีภาคอีสานที่มีชื่อว่า “เกราะลอ” ที่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะใช้ตีในวงโปงลาง นำเสนอให้เห็นคุณค่าและใช้เป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสดง การแสดงนี้มีการผสมผสานเสียงของเครื่องดนตรีและนาฎศิลป์พื้นบ้าน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวไปสู่ผู้ชม สะท้อนให้เห็นถึงลีลาท่าทางและความงดงามของหญิงสาวที่ใช้เครื่องดนตรีเกราะลอเป็นสื่อในการแสดงออกถึงความสนุกสนาน อีกทั้งสอดแทรกเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสาน
ซับเพิ้ง
มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
ซับเพิ้ง แบ่งการแสดงเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่1 "ซับกระเถ้า" สื่อถึงกิจวัตรประจำวันของหญิงสาวชาวผู้ไท และความงามของเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ช่วงที่ 2 "ซุผ้าฮิมห้วย" สื่อถึงการอาบน้ำและการซักผ้าของหญิงสาวชาวผู้ไท ที่นิยมอาบน้ำตามห้วยและสระผมด้วยน้ำซาวข้าว ในขณะเดียวกันก็จะนำผ้าที่ใส่มาซักพร้อมระหว่างอาบน้ำ ช่วงที่ 3 "ซับเส่งน้อง ย้องเส่งนาง" พรรณนาถึงความงามของหญิงสาวชาวผู้ไทที่จะแบ่งความงามออกเป็นสามด้าน งามที่มาจากธรรมชาติ งามการแต่งกาย และงามงานบ้านงานเรือน
ตํานานเวียงละกอนเขลางค์
มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
“ตํานานเวียงละกอนเขลางค์” เป็นการแสดงนาฏลีลาเรื่องราวความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองลําปาง บทเพลงได้บรรยายถึงทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของเมืองลําปาง โบราณสถานอันทรงคุณค่า สถานที่ท่องเที่ยวสําคัญของเมืองลําปาง วิถีชีวิตของชาวลําปาง และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวลําปาง โดยสื่อผ่านการสร้างสรรค์การแสดงนาฏลีลาประกอบเพลงที่มีความอ่อนช้อยงดงามตามแบบวัฒนธรรมล้านนา
จิตรลดารวมใจถวายพระพร
สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา
นาฏศิลป์ไทยแบบรำหมู่นางล้วน เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเป็น "องค์วิศิษฏศิลปิน" โดยรัฐบาลได้ถือเอาวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจึงได้ประพันธ์เนื้อร้องและประดิษฐ์ท่ารำของการแสดงชุดนี้ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่องานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ
ระบำพิมายปุระ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ระบำพิมายปุระชุดนี้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมาตามนางอัปสร ภาพจำหลักสมัยขอมบายนในปราสาทหินพิมาย และท่าร่ายรำจากพระศิวะนาฏราชที่หน้าบันปรางค์ประธาน โดย ครูวรรณี อมติรัตนะ ข้าราชการบำนาญ คิดประดิษฐ์ท่ารำขึ้น
ระบำนิลุบลชัยพฤกษ์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ระบำนิลุบลชัยพฤกษ์ เป็นการแสดงร่วมสมัยที่กล่าวถึงดอกไม้ 2 ชนิด ที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดที่ตั้งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ จังหวัดปทุมธานี ถิ่นแห่งดอกบัว และดอกชัยพฤกษ์ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงออกถึงความสวยงาม ความสุข และความอุดมสมบูรณ์ ให้ผู้รับชมรู้สึกถึงความสวยงามและได้รับความสุข
ศรัทธามหาบุญจุลกฐิน ต๋ามวิถีคนเมืองแจ่มในล้านนา
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
“แม่แจ่ม” อำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางหุบเขา อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ อาทิประเพณีจุลกฐินแม่แจ่ม ที่สะท้อนแนวความคิด ด้านศาสนา อัตลักษณ์และวิถีชีวิต เพื่อฟื้นคืนภูมิปัญญางานถักทอผืนผ้าในหมู่บ้านของแม่ญิงเมืองแจ่มที่สืบทอดเป็นมรดกวัฒนธรรม และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็น "วิศิษฏศิลปิน" มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงยิ่งในศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมให้สืบสาน ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมวิถีถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดรายได้ และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในชุมชน และทรงใส่พระทัยต่อความเป็นอยู่ของราษฎรทุกกลุ่มชาติพันธุ์
โบราณคดีศรีสยาม
วิทยาลัยทองสุข
การแสดงระบำบราณคดี เป็นการแสดงที่มีคุณค่าอีกชุดหนึ่งของไทย เป็นที่กล่าวขานและที่รู้จักของคนทั่วไปคือ "ระบำโบราณคดี ” เพลงระบำโบราณคดีเกิดจากแนวคิดของนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งได้พบภาพเขียน ภาพปั้น และภาพจำหลักตามโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ทั้งที่พบในประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง จึงได้นำมาประกอบแนวคิดประดิษฐ์สร้างเครื่องดนตรี และท่านาฏศิลปแต่ละสมัยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยขอให้นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย และศิลปินแห่งชาติ แต่งทำนองขึ้นตามแนวคิดนั้น โดยมอบให้นางลมุล ยมะคุปต์ นางเฉลย ศุขะวณิช และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลปไทย และศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ สร้างเป็นระบำโบราณคดี 5 ชุด โดยประกอบไปด้วย ระบำทวาราวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน และระบำสุโขทัย